แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำกลฉ้อฉล โจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมแล้ว ขอให้บังคับให้จำเลยคืนเงินที่ได้รับไปจากโจทก์ ปรากฏจากคำแถลงของโจทก์ในวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถาว่าโจทก์ทราบเหตุแล้วตั้ง 4-5 ปี แต่เพิ่งจะยกมาเป็นข้ออ้างในการบอกล้างนิติกรรมดังกล่าว จึงเป็นการพ้นเวลาที่จะบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 143 แล้ว ถือว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพอที่จะฟ้องอย่างคนอนาถาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2515 โจทก์ได้เช่าซื้อรถยนต์โตโยต้าคราวน์จากจำเลย 3 คัน ในราคาคันละ 113,000 บาท โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยแล้วคันละ 25,000 บาท รวมเป็นเงิน 75,000 บาท ค่าทำทะเบียน 3,250 บาท และค่าประกันภัยอีก 15,000 บาท รวมเป็นเงิน93,250 บาท จำเลยได้มอบรถให้โจทก์ครอบครองและออกหนังสือรับรองว่าใช้วิ่งได้ระหว่างกรุงเทพ – เชียงใหม่ ตามถนนสายเอเซียร่วมสองเดือนตามภาพถ่ายใบรับรองท้ายฟ้อง ต่อมาปรากฏว่ารถที่โจทก์เช่าซื้อไปทั้ง 3 คันนั้นไม่สามารถวิ่งระหว่างกรุงเทพ – เชียงใหม่ได้ เพราะป้ายทดลองเครื่องที่ติดไปกับรถนั้นเป็นป้ายปลอม และจำเลยได้ขายรถทั้งสามคันนั้นให้แก่บริษัทคอมเมอร์เชี่ยลทรัสต์ จำกัดแล้วคุณสมบัติดังกล่าวนี้จำเลยได้นิ่งเสียมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ ซึ่งหากโจทก์ทราบก็คงจะไม่ตกลงเช่าซื้อจากจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นฉ้อฉล โจทก์ได้มีหนังสือบอกล้างนิติกรรมเช่าซื้อรายนี้ไปยังจำเลยแล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2521 ตามเอกสารท้ายฟ้อง จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนเงินที่ได้รับไปจากโจทก์ในการเช่าซื้อทั้งหมดเป็นเงิน 93,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ถึงวันฟ้องอีก 87,987.12 บาท รวมเป็นเงิน 181,237.12 บาท และให้จำเลยเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 93,250 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงินที่จำเลยต้องรับผิดใช้ให้โจทก์ทั้งสิ้น 2,194,137.12 บาท พร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความแทนโจทก์โดยที่โจทก์เป็นคนยากจนไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ จึงขออนุญาตศาลฟ้องคดีอย่างคนอนาถา
ศาลสอบคู่ความในวันนัดไต่สวนอนาถา โจทก์แถลงว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยว่าผิดสัญญาเช่าซื้อเกี่ยวกับรถยนต์รายนี้และเรียกค่าเสียหายมาแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 5931/2517 ของศาลแพ่ง แต่คดีที่โจทก์ฟ้องใหม่นี้เป็นเรื่องกลฉ้อฉลและเรียกเงินที่โจทก์เสียไปกลับคืนพร้อมด้วยค่าเสียหาย
จำเลยแถลงว่า เรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่าเป็นกลฉ้อฉลนี้ โจทก์ได้ทราบมาตั้งแต่ปี 2515 จึงขาดอายุความแล้ว เรื่องดอกเบี้ยก็ขาดอายุความแล้วเช่นกัน ส่วนคำขอเรื่องค่าเสียหายนั้นก็เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแดง 5931/2517 ดังกล่าวแล้ว
ศาลชั้นต้นได้ฟังคู่ความและตรวจสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5931/2517 แล้วเห็นว่า คดีที่โจทก์ฟ้องใหม่นี้จึงไม่มีมูลจะฟ้องได้ ให้ยกคำร้องขอฟ้องอนาถาของโจทก์เสียหากโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปก็ให้ชำระค่าธรรมเนียมศาลภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2521 หากไม่ชำระศาลก็ไม่รับฟ้อง และให้จำหน่ายคดีในวันดังกล่าว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์สั่งว่าให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนต่อไปแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำกลฉ้อฉลโดยนิ่งเสียไม่ใช่ข้อความจริงให้โจทก์ทราบว่าป้ายทดลองเครื่องเป็นป้ายปลอม ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้รถที่เช่าซื้อไปวิ่งระหว่างกรุงเทพ – เชียงใหม่ได้ และจำเลยได้ขายรถที่เช่าซื้อให้แก่บริษัทคอมเมอร์เชี่ยนทรัสต์ จำกัดแล้ว เห็นว่าปัญหาเรื่องป้ายทดลองเครื่องและเรื่องจำเลยขายรถให้บริษัทคอมเมอร์เชี่ยนทรัสต์ จำกัดที่โจทก์อ้างเป็นเหตุบอกล้างนี้ โจทก์ก็ทราบดีมาตั้งแต่ปี 2517 เพราะโจทก์ได้เคยส่งอ้างเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์เป็นพยานในคดีหมายเลขดำที่ 5721/2516 ของศาลแพ่ง แต่โจทก์เพิ่งจะยกมาเป็นข้ออ้างในการบอกล้างนิติกรรมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2521 ซึ่งเป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง 4 – 5 ปี อันเป็นการพ้นเวลาที่จะบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 143 แล้ว ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องอย่างคนอนาถาได้ จึงเป็นการชอบแล้ว
พิพากษากลับคำสั่งศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถาของโจทก์เสียตามคำสั่งศาลชั้นต้น หากโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปให้ชำระค่าธรรมเนียมภายใน 7 วัน มิฉะนั้นให้จำหน่ายคดีเสีย