แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาจับคนไปเรียกค่าไถ่และข้อหากรรโชกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาจับคนไปเรียกค่าไถ่ ยกฟ้องข้อหากรรโชก โจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อหากรรโชกจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัย พิพากษาลงโทษจำเลยได้อีก
จำเลยกับพวกเป็นทหารมีอาวุธเข้าไปพูดขู่บังคับให้ผู้เสียหายไปกับจำเลยกับพวก แล้วบอกให้คนในบ้านนำเงิน 3,000 บาท ไปไถ่ตัวผู้เสียหายหาไม่แล้วจะไม่ได้กลับนั้น ย่อมฟังได้ว่าจำเลยกับพวกมีเจตนากระทำผิดและมีเจตนาเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ในการ เอาตัวผู้เสียหายไปโดยวิธีขู่เข็ญใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมและ ข่มขืนใจผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313(2) แล้ว
แม้จำเลยกับพวกจะมิได้เอาเงินค่าไถ่จำนวน 3,000 บาทไว้เป็นประโยชน์แก่ตนแต่ได้มอบให้แก่ทางราชการไปก็ตามก็เป็นการเอาไปจากผู้เสียหายโดยมิชอบ เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นค่าไถ่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2524 เวลากลางวันจำเลยกับพวกโดยมีปืนเป็นอาวุธ ได้บังอาจร่วมกันขู่เข็ญ ข่มขืนใจ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม พาเอาตัวนายสว่าง แก่นคล้าย ผู้เสียหายอายุกว่าสิบสามปีไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ โดยผู้เสียหายเอาเงินไปไถ่ 3,000 บาทให้จำเลยและพวกหาไม่แล้วจำเลยและพวกจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกายเสรีภาพของผู้เสียหาย แล้วจำเลยกับพวกพาผู้เสียหายไปหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ที่บ้านหลังหนึ่ง ผู้เสียหายกับพวกจึงยอมชำระเงินจำนวน 3,000 บาทให้จำเลยกับพวก เหตุเกิดที่ตำบลเขาชัยสน อำเภอเขาชัยสน และตำบลหนองธง อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุงเกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 313, 337 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 11 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 3,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยแถลงขอต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 313(2), 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พศจิกายน2514 ข้อ 11 แต่จำเลยจัดให้ผู้เสียหายที่ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาโดยผู้เสียหายมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิตแต่อย่างใด กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316 ซึ่งกฎหมายให้ลงโทษน้อยกว่าที่กำหนดไว้แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จำคุก 4 ปี 6 เดือน คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ฟังว่าเงินจำนวน 3,000 บาทที่ผู้เสียหายจ่ายไปนั้น เป็นการจ่ายเพื่อชดใช้ราคาทรัพย์สินของทางราชการที่นายไพเราะหลานผู้เสียหายนำหลบหนีไป หาได้จ่ายให้แก่จำเลยหรือพวกจำเลยเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่ เงินดังกล่าวมิใช่ค่าไถ่ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบังคับผู้เสียหายเรียกค่าไถ่ และฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกรรโชกตามฟ้อง พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337, 83 ให้จำคุก 1 ปี แต่ให้รอการลงโทษตามมาตรา 56 มีกำหนด2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 3,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานจับตัวผู้เสียหายเรียกค่าไถ่ และจำคุกฐานกรรโชกในสถานหนักโดยไม่รอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อหากรรโชกซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีในข้อหานี้จึงยุติไปแล้ว ไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยพิพากษาลงโทษจำเลยได้อีก คดีคงมีปัญหาว่า จำเลยมีความผิดฐานจับตัวผู้เสียหายเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่หรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยกับพวกมีอาวุธเข้าไปพูดขู่บังคับให้ผู้เสียหายไปกับตนแล้ว บอกให้ตนในบ้านนำเงิน3,000 บาทไปไถ่ตัวผู้เสียหายหาไม่แล้วจะไม่ได้กลับนั้นย่อมฟังได้ว่า จำเลยกับพวกมีเจตนากระทำผิดและมีเจตนาเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ในการเอาตัวผู้เสียหายไปโดยวิธีขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมและข่มขืนใจผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313(2) แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะได้มาซึ่งค่าไถ่หรือไม่ แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้รับเงินค่าไถ่ที่เรียกร้องแล้วมอบต่อให้แก่หัวหน้าทหารพรานเป็นค่าชดใช้ราคาทรัพย์สินของทางราชการที่นายไพเราะหลานผู้เสียหายเอาไป เห็นว่าจำเลยก็ยังหาพ้นผิดฐานจับตัวผู้เสียหายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ไม่ ทั้งเงินค่าไถ่จำนวน 3,000 บาทรายนี้ แม้จำเลยกับพวกมิได้เอาไว้เป็นประโยชน์แก่ตนแต่ได้มอบให้แก่ทางราชการก็ตาม ก็เป็นการเอาไปจากผู้เสียหายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น