แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2533 ก่อนที่พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 จะมีผลใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่อันจะพึงมีตามกฎหมายในการเลิกจ้างโจทก์รวมทั้งการดำเนินการตามสิทธิที่จะเกิดขึ้นจากการเลิกจ้างดังกล่าวจะต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการเลิกจ้างจะนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ไม่ได้สิทธิต่าง ๆ ที่โจทก์ฟ้องเรียก ไม่มีกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนั้นบัญญัติให้โจทก์ต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอย่างใดก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งพนักงานธุรการ 2 โรงงานสุราอยุธยา องค์การสุรา ต่อมาวันที่16 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าโจทก์ร่วมกับพวกลักลอบนำสุราขาวออกนอกโรงงาน เป็นตัวกลางรับซื้อน้ำสุราที่ลักลอบนำออกจากโรงงาน ซึ่งไม่เป็นความจริง การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหากไม่สามารถรับกลับได้ ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เงินบำเหน็จ ค่าเสียหายระหว่างถูกพักงาน และโบนัสกรณีพิเศษแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลแรงงาน เพราะโจทก์ฟ้องใช้สิทธิเรียกร้องและค่าเสียหายตามกฎหมายเดิม คือพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ฉะนั้นเมื่อมีกฎหมายใหม่ออกมาใช้เพิ่มเติมโจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง เพราะไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิของโจทก์ โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 18ซึ่งกำหนดขั้นตอนไว้ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้ร่วมกับพวกลักลอบนำสุราขาวออกจากโรงงานของจำเลย และมิได้เป็นตัวการรับซื้อ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานโดยนับอายุงานต่อเนื่อง ชำระค่าจ้างระหว่างพักงานและเงินโบนัสคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มิได้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 18(2)ก่อน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า กรณีของโจทก์นั้นข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2533 ก่อนที่พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 จะมีผลใช้บังคับ ดังนั้นสิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีตามกฎหมายในการเลิกจ้างโจทก์ รวมทั้งการดำเนินการตามสิทธิที่จะเกิดขึ้นจากการเลิกจ้างดังกล่าวนั้น จะต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการเลิกจ้างจะนำพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ไม่ได้ ในกรณีของโจทก์สิทธิต่าง ๆ ที่เรียกร้องมาตามคำฟ้องนั้น กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นไม่มีบทบัญญัติให้โจทก์จะต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้แต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอย่างใดก่อน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลแรงงานกลางอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน