คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจที่ระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้งเป็นเพียงการกำหนดประเภทของกิจการ ซึ่งรัฐวิสาหกิจจะดำเนินการเท่านั้น งานของรัฐวิสาหกิจหาได้จำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะเท่าที่ระบุไว้ดังกล่าวไม่ ดังนั้น แม้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ. 2498 ไม่ได้กำหนดให้องค์การฟอกหนังมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกีฬาก็ตาม แต่เมื่อผู้อำนวยการองค์การฟอกหนังมีนโยบายที่จะเชื่อมความสามัคคีระหว่างองค์การฟอกหนังกับรัฐวิสาหกิจอื่นโดยยอมรับการแข่งขันกีฬาเป็นสื่อสัมพันธ์แล้ว การกีฬาจึงเป็นงานอย่างหนึ่งขององค์การฟอกหนัง การที่ผู้อำนวยการองค์การฟอกหนังแต่งตั้งผู้ตายเป็นนักกีฬาตัวแทนขององค์การฯ โดยให้มีสิทธิฝึกซ้อม เมื่อใดก็ได้ภายในช่วงเวลาที่กำหนด ถือได้ว่าผู้ตายได้รับมอบหมายให้ทำงานแก่องค์การฟอกหนังแล้ว เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายขณะฝึกซ้อมกีฬาเนื่องจากออกกำลังกายเกินควร ย่อมเป็นกรณีผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์ซึ่งเป็นทายาทจึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทน
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 54 วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสาม กับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 แก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับ ที่ 2) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525 ข้อ 4 ที่กำหนดว่า กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม ค่าทดแทนตามข้อ 54 วรรคสาม แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละหนึ่งพันบาทและไม่เกินเดือนละหกพันบาทมีความหมายว่า กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างนั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทนร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน แต่ต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละหนึ่งพันบาทและไม่เกินเดือนละหกพันบาทมีกำหนดห้าปี
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทนดังกล่าวมีสภาพใช้บังคับอย่างกฎหมาย ศาลต้องรู้เอง แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลก็ไม่มีอำนาจพิพากษาให้นายจ้างต้องรับผิดเกินกว่าบทบัญญัติของกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เป็นทายาทของนายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์ โดยเป็นภรรยา บุตร และมารดาตามลำดับ นายมนูศักดิ์เป็นลูกจ้างของจำเลยได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากจำเลยเป็นกรรมการกีฬาและนักกีฬาแบดมินตันของจำเลยเข้าแข่งขันกีฬาสามัคคีระหว่างหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงกลาโหมตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม ในระหว่างนายมนูศักดิ์ฝึกซ้อมแบดมินตันเกิดมีอาการหน้ามืดเป็นลมและถึงแก่กรรมก่อนจะนำส่งโรงพยาบาล โจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานกองทุนเงินทดแทน กรมแรงงานและต่อมาได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้ว แต่ได้มีคำวินิจฉัยยกคำขอ ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยและมติดังกล่าว ให้แสดงว่านายมนูศักดิ์ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่จำเลยผู้เป็นนายจ้าง และให้จำเลยจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการแข่งขันกีฬา การเข้าร่วมแข่งขันกีฬาสามัคคีตามฟ้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของพนักงาน นายมนูศักดิ์ไปฝึกซ้อมกีฬาแบดมินตันนอกวันทำการที่สนามอื่นซึ่งจำเลยไม่ได้จัดไว้ให้ การฝึกซ้อมกีฬาของนายมนูศักดิ์จึงไม่ใช่เป็นการทำงานของจำเลย โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเดือนละ ๖,๓๖๖ บาท มีกำหนด ๕ ปี กับค่าทำศพผู้ตายตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า วัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจซึ่งระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้งเป็นเพียงการกำหนดประเภทของกิจการที่รัฐวิสาหกิจจะดำเนินการเท่านั้น งานของรัฐวิสาหกิจมิได้จำกัดอยู่แต่ในเฉพาะขอบเขตที่ระบุเป็นวัตถุประสงค์ไว้ในกฎหมายจัดตั้ง แม้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ.๒๔๙๘ มิได้กำหนดให้จำเลยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกีฬาไว้ก็ตาม แต่กรณีที่ผู้อำนวยการของจำเลยมีนโยบายเชื่อมความสามัคคีระหว่างจำเลยกับรัฐวิสาหกิจอื่น โดยยอมรับการแข่งขันกีฬาเป็นสื่อสัมพันธ์แล้ว การกีฬาย่อมเป็นงานอย่างหนึ่งของจำเลย เมื่อผู้อำนวยการของจำเลยแต่งตั้งผู้ตายเป็นนักกีฬาตัวแทนของจำเลย ให้มีสิทธิฝึกซ้อมวันเวลาใดก็ได้ในช่วงระหว่างวันที่ที่กำหนด จึงเป็นกรณีที่ผู้ตายได้รับมอบหมายให้ทำงานแก่จำเลย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะฝึกซ้อมตามที่จำเลยอนุญาต และมีสาเหตุการตายเนื่องจากออกกำลังกายเกินควรแล้ว ต้องถือว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิได้รับเงินทดแทน
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๕๔ (๔) ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน มีกำหนดห้าปี แต่ต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และไม่มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนด ซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๕ ข้อ ๔ ก็ได้บัญญัติว่า กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม ค่าทดแทนตามข้อ ๕๔ วรรคสาม แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละหนึ่งพันบาท และไม่เกินเดือนละหกพันบาท ซึ่งมีความหมายว่า กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างนั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทนร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน แต่ต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละหนึ่งพันบาทและไม่เกินเดือนละหกพันบาทมีกำหนดห้าปี ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมีสภาพใช้บังคับอย่างกฎหมาย ซึ่งศาลต้องรู้เอง แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลก็ไม่มีอำนาจพิพากษาให้นายจ้างรับผิดเกินกว่าบทบัญญัติของกฎหมาย การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ ๖,๓๖๖ บาท เนื่องจากนายมนูศักดิ์ผู้ตายได้รับค่าจ้างเดือนละ ๑๐,๖๑๐ บาท นั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ ๖,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share