คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7223/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมพ.ศ. 2543 บัญญัติว่า “บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีจะถึงที่สุด” คำว่า “จนกว่าคดีจะถึงที่สุด” นั้น หมายถึง ถึงที่สุดตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 147 คือ คดีที่ได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกา และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว กรณีหาได้มีความหมายว่าถึงที่สุดในแต่ละชั้นศาล ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2542 อันเป็นวันก่อนพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับนี้ใช้บังคับ คดียังมีการอุทธรณ์ฎีกาต่อมา คดีจึงยังไม่ถึงที่สุดจึงต้องบังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนคือ พระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2477 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับเดิม มาตรา 10(4)(1) ให้อำนาจประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีใด ๆ ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ที่สาขานครราชสีมา จำนวน 980,000บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ แล้วผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,046,570.76 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 935,810.15 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยชำระเบี้ยประกันอัคคีภัยทุก 3 ปี เป็นเงิน900 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปทุก 3 ปี จนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยไม่ได้กู้เงินและไม่เคยรับเงินจากโจทก์ สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะ เพราะมิได้ลงชื่อผู้รับจำนอง และตามบันทึกข้อตกลงท้ายสัญญาจำนองทำให้จำนวนเงินที่ระบุในสัญญาจำนองมีจำนวนไม่แน่นอน ทั้งมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,046,570.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 935,810.15 บาท นับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 3 กันยายน 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 135256, 135257 ตำบลหัวทะเล อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ขัดต่อวัตถุประสงค์ของโจทก์ ดอกเบี้ยทั้งหมดเป็นโมฆะ เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 นั้น ให้อำนาจแก่โจทก์ในการคิดดอกเบี้ยแก่ผู้กู้ได้สูงสุดไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ19 ต่อปี หาได้ขัดต่อวัตถุประสงค์ของโจทก์และไม่ทำให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้นำประกาศกระทรวงการคลังมาแสดงให้เห็นว่าในแต่ละช่วงเวลาที่โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย มีประกาศกระทรวงการคลังกำหนดอัตราสูงสุดไว้เท่าใด ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นเอกสารปลอม เนื่องจากเอกสารท้ายฟ้องหมาย 9 ข้อ 1 ระบุว่า “…ซึ่งผู้รับจำนองหรือลูกหนี้จะต้องชำระให้แก่ผู้จำนองในวงเงิน0.00 บาท” แต่ต่อมามีการแก้ไขเป็น 980,000 บาท โจทก์ต้องมอบอำนาจในการจำนองให้เฉพาะพนักงานของโจทก์และโจทก์ไม่มีหนังสือมอบอำนาจมาแสดง ถือว่าการตั้งตัวแทนของโจทก์มิได้ทำเป็นหนังสือ เป็นการไม่ทำตามแบบ สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะนั้นข้อที่ฎีกาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตนั้น ฎีกาจำเลยข้อนี้มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะเพราะจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้จำนองต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน แต่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ธนาคารโจทก์ขณะที่ยังไม่มีการกรอกข้อความนั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์เพราะมิใช่ข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่จำเลยฎีกาว่า ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองทำให้ยอดหนี้ตามสัญญาจำนองเป็นจำนวนเงินไม่แน่นอนตกเป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาตรวจดูคำให้การ คำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาของจำเลยแล้ว นอกจากจะไม่ปรากฏรายละเอียดว่าข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองข้อใดทำให้จำนวนเงินที่ระบุในสัญญาจำนองเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ตามที่จำเลยอ้าง ทั้งเมื่อตรวจดูข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองดังกล่าวก็ไม่ปรากฏข้อความที่ระบุให้ผู้จำนองต้องรับผิดสำหรับต้นเงินเกินวงเงินตามสัญญาจำนองแต่อย่างใด จึงไม่เป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอนหรือไม่มีจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกัน อันจะเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 708 แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญากู้เงินไม่บริบูรณ์เพราะจำเลยไม่ได้รับเงินจากโจทก์และโจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยกู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 980,000 บาท จำเลยให้การยอมรับว่าลายมือชื่อในสัญญากู้เงินเป็นลายมือชื่อจำเลยจริงที่จำเลยลงชื่อไว้ล่วงหน้าเพื่อเสนอเอกสารให้โจทก์ตรวจสอบและพิจารณาว่าจะอนุมัติให้จำเลยกู้เงินหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด แต่จำเลยไม่เคยได้รับเงินกู้ ดังนี้ เมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่าหนี้ตามสัญญากู้เงินไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงที่ตนกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์มีนายปรัชญา คนสมบูรณ์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยได้มากู้เงินโจทก์จำนวน 980,000 บาท และรับแคชเชียร์เช็คจากโจทก์ แคชเชียร์เช็คระบุชื่อผู้รับเป็นชื่อจำเลยอีกทั้งยังปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยยังได้ดำเนินการจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้เงินกับโจทก์ แสดงว่าจำเลยต้องได้รับเงินกู้แล้วจึงไปจดทะเบียนจำนองให้โจทก์ สำหรับจำเลยคงมีแต่นางอณุตนารถ เดชสมบูรณ์สุข พยานจำเลยเบิกความลอย ๆ ว่า จำเลยไม่ได้รับเงินกู้จากโจทก์โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน จึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์แล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ 20,000 บาท สูงเกินไปนั้น เห็นว่า การที่ศาลกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้ค่าทนายความแทนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดค่าทนายความให้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการต่อสู้หรือดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ทั้งคดีนี้ศาลชั้นต้นได้กำหนดค่าทนายความจำนวน 20,000 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างอัตราขั้นต่ำและขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 อัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วยกับการกำหนดค่าทนายความของศาลชั้นต้นนั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ประการสุดท้ายตามที่จำเลยฎีกาว่า ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ เห็นว่า ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 บัญญัติว่า “บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีจะถึงที่สุด” คำว่า “จนกว่าคดีจะถึงที่สุด” นั้น หมายถึง ถึงที่สุดตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 คือ คดีที่ได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกา และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว กรณีหาได้มีความหมายว่าถึงที่สุดในแต่ละชั้นศาลตามที่จำเลยได้ฎีกาแต่อย่างใดไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 3 กันยายน2542 อันเป็นวันก่อนพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับนี้ใช้บังคับ คดียังมีการอุทธรณ์ฎีกาต่อมา คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด จึงต้องบังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนคือพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2477 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับเดิม มาตรา 10(4)(1) ให้อำนาจประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีใด ๆ ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share