แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าของเหมืองมอบหมายให้จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าคนงานเป็นผู้ดูแลบ้านในขณะที่เจ้าของเหมืองไม่อยู่ ตำรวจค้นพบอาวุธปืนเอช.เค.33 พร้อมกระสุนปืนในบ้านพักของเจ้าของเหมือง แม้จะได้ความว่าเจ้าของเหมืองได้มอบอาวุธปืนฯ นั้นให้จำเลยเอาไว้ควบคุมคนงานแต่จำเลยมิได้ใช้หรือยึดถืออาวุธปืนนั้นไว้ จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 55,78
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 55, 72, 78 ริบของกลาง จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 55, 72, 78 ให้ลงโทษตามมาตรา 7, 72จำคุก 1 ปี ตามมาตรา 55, 78 จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 11 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 7 ปี 4 เดือน ริบของกลาง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 8 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ฎีกาของจำเลยที่ว่าอาวุธปืนพกไม่ใช่ของจำเลย จำเลยไม่ใช่ผู้ครอบครอง เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 55, 78 ตามฟ้องหรือไม่…
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบตรงกันว่าเจ้าพนักงานตำรวจไปค้นพบปืน เอช.เค. ได้ 1 กระบอกพร้อมกระสุน ได้ปืนพกออโตเมติก 1 กระบอกพร้อมกระสุน ปรากฏตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย จ.3 ประจักษ์พยานโจทก์คดีนี้มี 2 ปากคือสิบตำรวจเอกสุชาติ เรืองขจร และจ่าสิบตำรวจชูศักดิ์ แก้วอยู่ยืนยันว่าค้นของกลางเหล่านี้ได้ในห้องนอนของจำเลยและตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 จำเลยก็รับสารภาพว่าของกลางเป็นของจำเลยแต่ตามคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.2 นั้น จำเลยให้การว่าปืนเอช.เค.33 พร้อมเครื่องกระสุน ทางเหมืองได้มอบให้จำเลยเอาไว้ควบคุมคนงาน ส่วนอาวุธปืนพกสั้น ขนาด 7.65 มม. นั้น จำเลยซื้อจากเพื่อนของจำเลยนานมาแล้ว ในราคา 1,000 บาท ได้ความจากคำของสิบตำรวจเอกสุชาติและจ่าสิบตำรวจชูศักดิ์ว่า บริเวณเหมืองมีบ้านพักคนงานปลูกอยู่มีสภาพเป็นกระต๊อบชั่วคราว มีบ้านพักเจ้าของเหมืองอยู่ในบริเวณเหมืองด้วยบ้านพักเจ้าของเหมืองมีลักษณะถาวร บ้านที่จำเลยพักอาศัยเป็นบ้านไม้ถาวรเข้าใจว่าเป็นบ้านเจ้าของเหมือง จำเลยเป็นหัวหน้าคนงาน สอบถามจำเลย จำเลยบอกว่าเป็นคนดูแลบ้านดังกล่าว คำของพยานโจทก์จึงเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยว่าค้นพบอาวุธปืนในบ้านพักเจ้าของเหมือง ซึ่งจำเลยดูแลอยู่ขณะเกิดเหตุ เช่นนี้ แม้จะได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนว่าอาวุธปืน เอช.เค.33 พร้อมกระสุนปืนทางเจ้าของเหมืองมอบให้จำเลยเอาไว้ใช้ควบคุมคนงานก็ตามแต่ก็ปรากฏว่าค้นพบอาวุธปืนดังกล่าวในบ้านพักของเจ้าของเหมืองมิได้อยู่ที่ตัวจำเลย แสดงว่าเจ้าของเหมืองยังเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาวุธปืน เอช.เค.33 พร้อมเครื่องกระสุนดังกล่าวอย่างแท้จริง จำเลยมิได้ใช้หรือยึดถืออาวุธปืนนั้นไว้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 55, 78 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 55, 78 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์