คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เยาว์อายุ 18 ปีมีภริยา แต่มิได้จดทะเบียนสมรส ย่อมยังไม่บรรลุนิติภาวะ
ผู้เยาว์ลงนามทำสัญญาโดยมีผู้แทนโดยชอบธรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือเป็นพยานในเอกสารสัญญานั้บถือได้ว่า ผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมแล้ว
ทายาททุกคนทำสัญญาแบ่งปันมรดกซึ่งไม่มีพินัยกรรม เป็นการระงับข้อพิพาทแห่งกองมรดกที่จะมีขึ้น จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 (4) ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของผู้เยาว์มิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ดังนั้น เมื่อยังมิได้รับอนุญาตจากศาล ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมจึงไม่อาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันมรดก
สัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันมรดกซึ่งผู้เยาว์ทำและผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมตกเป็นโมฆะ แม้สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นทำขึ้นระหว่างผู้เยาว์กับทายาทอื่นอีกหลายคน แต่จำนวนทายาทหรือจำนวนทรัพย์มรดกที่จะได้รับส่วนแบ่งที่เกี่ยวพัน ไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ ย่อมตกเป็นโมฆะด้วยกันทั้งสิ้น
การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ทายาทผู้ใดครอบครองมรดกส่วนไหนก็ย่อมมีสิทธิเฉพาะส่วนนั้น ส่วนอื่นที่ตนมิได้เกี่ยวข้อง ย่อมขาดอายุความมรดก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดที่ ๔๙๙ เนื้อที่ ๕๖ ไร่ ๖๘ ตารางวา เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายซอบิดาซึ่งถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรม โจทก์มีสิทธิได้รับมรดก ๑ใน ๑๓ เป็นเนื้อที่ ๔ ไร่ ๑งาน ๒๙ ตารางวา ขอให้พิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนมรดกดังกล่าวร่วมกับจำเลย
จำเลยต่อสู้ว่า ทายาทได้ทำบันทึกแบ่งมรดกตามคำสั่งผู้ตายไว้ โจทก์มีส่วนได้เพียง ๑ ไร่ ๓ งาน ๑๔ ตารางวาเศษ คดีโจทก์ขาดอายุความมรดก
นางนิ่ม โซ๊ะสลาม ในฐานะส่วนตัวและมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวแสงทอง เด็กหญิงซาฟียะ นางสาวอามีเนาะ นางทองดี นายสว่าง ร้องสอดขอรับส่วนแบ่งมรดก ในฐานะภริยาและบุตรเจ้ามรดก
โจทก์ไม่ค้าน
จำเลยค้านว่า นางนิ่มตกลงไว้ในบันทึกระหว่างทายาทสละสิทธิรับมรดก ส่วนผู้ร้องสอดอื่นมีสิทธิรับมรดกดังจำเลยให้การ
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ร้องสอดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๔๙
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ทายาทได้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันตามเอกสาร ล.๑ อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ในสัญญามิได้ระบุให้นางนิ่มได้รับมรดก พิพากษาว่า โจทก์กับนางสาวแสงทอง เด็กหญิงซาฟียะ นางสาวอามีเนาะ นางทอดี นายสว่างมีสิทธิได้รับมรดกคนละ ๑ใน ๗ ของที่ดิน ๑๒ ไร่ ๒ งาน ให้โจทก์จำเลย ผู้ร้องสอดร่วมกันไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินรายนี้ ส่วนได้ของนางนิ่มให้ยกเสีย
โจทก์กับผู้ร้องสอดทั้งหมดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า นางนิ่มในฐานส่วนตัวและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวแสงทวง เด็กหญิงซาฟียะ และนายสว่าง ผู้ร้องสอดมีสิทธิได้รับมรดกคนละ ๑ ใน ๑๓ของเนื้อที่ทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ได้ความในเบื้องต้นว่า นายซอเจ้ามรดกมีภริยา ๒ คนคือ นายเชย และนางนิ่ม มีบุตรรวม ๑๒ คน หลังเจ้ามรดกตาย บุตรทั้ง ๑๒ คน ได้ลงนามทำบันทึกแบ่งมรดกตามเอกสาร ล.๑ นางนิ่มพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นพยาน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสาร ล.๑ เป็นข้อตกลงของทายาทผู้เป็นบุตรเจ้ามรดกทั้งหมด ๑๒ คน เกี่ยวกับที่พิพาทของเจ้ามรดกซึ่งไม่มีพินัยกรรมเป็นการระงับข้อพิพาทแห่งกองมรดกที่จะมีขึ้น จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแต่ขณะทำเอกสารนั้น นางสาวแสงทองและเด็กหญิงซาฟียะเป็นผู้เยาว์ ส่วนนายสว่างอายุ ๑๘ ปี มีภริยาโดยไม่จดทะเบียน ฐานะตามกฎหมายก็เป็นผู้เยาว์นั่นเอง นางนิ่มมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมได้พิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารในฐานะพยาน แสดงว่ารู้เห็นยินยอมอนุญาตให้ผู้เยาว์ทำเอกสาร ล.๑ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๖ (๔) บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความเว้นแต่ศาลจะอนุญาต กรณีนี้นางนิ่มในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์มิได้รับอนุญาตจากศาล จึงขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยตรง ย่อมตกเป็นโมฆะ
มีปัญหาว่าจะแบ่งที่พิพาทแก่ทายาทอย่างไร ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า หลังจากเจ้ามรดกตาย โจทก์กับผู้ร้องสอดทั้งหกต่างอยู่เรือนในที่ดินพิพาทและทำนาพิพาท ๑๒ ไร่ ๒ งาน ตามที่ได้รับแบ่ง นอกจากนั้นนายจรูญเป็นผู้ทำนาพิพาททั้งสิ้น อันถือได้ว่าต่างครอบครองที่พิพาทอันเป็นมรดกเป็นส่วนสัด เกินระยะเวลาที่เจ้ามรดกตาย ๑ ปี ตามบทกฎหมายทายาทผู้ใดครอบครองมรดกส่วนไหนก็ย่อมมีสิทธิเฉพาะส่วนนั้น ส่วนอื่นที่ตนมิได้เกี่ยวข้องย่อมขาดอายุความมรดก ฉะนั้น ส่วนมรดกของโจทก์กับผู้ร้องทั้งหก จึงมีเฉพาะที่ครอบครองดังกล่าว ๑๒ไร่ ๒ งาน ที่จะต้องแบ่งออกเป็น ๗ ส่วน เท่า ๆ กัน
พิพากษาแก้เป็นว่า นาพิพาทเฉพาะ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ที่โจทก์กับผู้ร้องสอดครอบครองนั้นเป็นของโจทก์กับผู้ร้องสอดทั้ง หก คนคนละส่วนเท่า ๆ กัน

Share