คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2192/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าจ้างและเงินประกันแก่โจทก์ พ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติแล้วจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน การที่จำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลทำให้คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ซึ่งจำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้น ไม่มีสิทธินำคดีในเรื่องเดียวกันนี้ไปสู่ศาลอีก ตามคำฟ้องจึงเป็นกรณีโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานอันเป็นที่สุดแล้ว ไม่เกี่ยวกับเรื่องโจทก์ยักยอกทรัพย์จำเลย ดังนั้นที่จำเลยฟ้องแย้งอ้างว่าโจทก์ยักยอกทรัพย์ของจำเลย โจทก์ต้องชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกโดยจำเลยขอนำเงินตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานสั่งให้จำเลยชำระมาหักกับราคาทรัพย์แล้วให้โจทก์ชำระส่วนที่เหลือ จึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 6 กันยายน 2545 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่พนักงานขาย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2545 เป็นเงิน 7,200 บาท จำเลยเรียกเก็บเงินประกันการทำงานจากโจทก์รวม 4,000 บาท ตกลงจะคืนให้เมื่อโจทก์ออกจากงาน โจทก์ออกจากงานแล้วจำเลยก็ยังไม่จ่ายเงินทั้งสองจำนวนให้ พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งที่ 31/2545 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2545 สั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและเงินประกันแก่โจทก์รวม 11,200 บาท พ้นกำหนดที่จำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งแล้วจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 31/2545 โดยจ่ายค่าจ้างและเงินประกันรวม 11,200 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลย จำเลยว่ากล่าวตักเตือนเรื่องโจทก์นำบุคคลภายนอกเข้ามาในร้านเป็นประจำ วันที่ 25 ตุลาคม 2545 จำเลยได้รับแจ้งจากอาคารสยามเซ็นเตอร์ว่าโจทก์กอดจูบกันบุคคลภายนอกในร้าน ทำให้ลูกค้าไม่กล้าเข้าร้าน ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายทำลายชื่อเสียงและผิดกฎระเบียบของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันนั้น และมีการตรวจนับสินค้าในร้านเพื่อส่งมอบให้พนักงานที่จะเข้าทำหน้าที่แทนปรากฏว่าสินค้าสูญหาย 23 ชิ้น รวมเป็นเงิน 86,180 บาท จำเลยแจ้งให้โจทก์มาชี้แจงหลายครั้งแต่โจทก์ไม่ยอมมาชี้แจง ตามกฎระเบียบของจำเลยให้ถือว่าสินค้าที่สูญหายทั้งหมดเกิดจากการกระทำของพนักงาน จำเลยแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่าโจทก์กระทำอนาจารในร้านของจำเลยและยักยอกทรัพย์ เมื่อหักค่าจ้างและเงินประกันความเสียหายของโจทก์ชดใช้ค่าสินค้าที่โจทก์ยักยอกไปแล้ว โจทก์ต้องชดใช้เงินแก่จำเลยอีก 74,980 บาท ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าสินค้า 74,980 บาท แก่จำเลย ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมไม่รับฟ้องแย้งและคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2545 และออกจากงานแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยไม่คืนเงินประกันและไม่จ่ายค่าจ้าง พนักงานตรวจแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่คืนเงินประกัน 4,000 บาท และค้างจ่ายค่าจ้าง 7,200 บาท แก่โจทก์แล้วมีคำสั่งที่ 31/2545 ให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน ตามที่กฎหมายบัญญัติ จำเลยไม่ให้การปฏิเสธ จึงฟังได้ว่าจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 จำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยไม่อาจยกข้ออ้างเพื่อขอหักชำระค่าเสียหายมาในชั้นนี้ได้ แม้คำขอบังคับของโจทก์ไม่ได้ขอคิดดอกเบี้ยมาด้วย แต่โจทก์ขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งมีคำสั่งให้จำเลยชำระดอกเบี้ยด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน พิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 31/2545 ให้จ่ายค่าจ้างและเงินประกันรวม 11,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่าฟ้องแย้งเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งที่ 31/2545 สั่งให้จำเลยชำระค่าจ้างและเงินประกันแก่โจทก์ พ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติแล้วจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 31/2545 การที่จำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลทำให้คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ซึ่งจำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้น ไม่มีสิทธินำคดีในเรื่องเดียวกันนี้ไปสู่ศาลอีก ตามคำฟ้องจึงเป็นกรณีโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานอันเป็นที่สุดแล้วไม่เกี่ยวกับเรื่องโจทก์ยักยอกทรัพย์จำเลย ดังนั้นที่จำเลยฟ้องแย้งอ้างว่าโจทก์ยักยอกทรัพย์ของจำเลย โจทก์ต้องชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกโดยจำเลยขอนำเงินตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานสั่งให้จำเลยชำระมาหักกับราคาทรัพย์แล้วให้โจทก์ชำระส่วนที่เหลือจึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้งจำเลยนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟ้งไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share