แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5เบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้นซึ่งมีข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 โดยระบุรายละเอียดข้อความที่จำเลยดังกล่าวเบิกความกับความจริงเป็นอย่างไรและว่าคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีมาด้วยแต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายว่าเป็นข้อหาความผิดตามบทมาตราใดในพระราชบัญญัติดังกล่าว และประเด็นสำคัญของคดีมีว่าอย่างไรอีกทั้งคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อสำคัญอย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177, 179, 180, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 5 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 7837/2525 คดีหมายเลขแดงที่ 15534/2525ของศาลชั้นต้น โดยระบุรายละเอียดข้อความที่จำเลยดังกล่าวเบิกความกับความจริงเป็นอย่างไร และว่าคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี แม้โจทก์บรรยายฟ้องมาด้วยว่า คดีที่จำเลยดังกล่าวเบิกความอันเป็นเท็จนั้นมีข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรแต่โจทก์มิได้บรรยายว่าเป็นข้อหาความผิดตามบทมาตราใดในพระราชบัญญัติดังกล่าว ประเด็นสำคัญของคดีมีว่าอย่างไรและคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อสำคัญอย่างไร ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ในข้อหาเบิกความเท็จจึงเป็นฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป”
พิพากษายืน