คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าอาคารของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์อย่างไร ส่วนไหน ขนาดกว้างยาวเท่าไร อยู่ทางทิศไหนของที่ดิน ก็หาเป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์ขาดสาระสำคัญไม่ เพราะข้อที่โจทก์มิได้บรรยายมานั้นเป็นเพียงรายละเอียดซึ่งนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นและควบคุมดูแลการชี้แนวเขตและทำการก่อสร้าง แต่ไม่ทราบว่ามีการก่อสร้างคลาดเคลื่อนทำให้ตึกแถวรุกล้ำที่ดินของโจทก์ถือได้ว่าจำเลยได้ก่อสร้างตึกแถวรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ก่อนปี 2522 โจทก์จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดแปลงเดียวกันคือ โฉนดเลขที่ 49 ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปางจังหวัดลำปาง ต่อมาปี 2522 ได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยส่วนของโจทก์เป็นโฉนดเลขที่ 25287 จำเลยคงถือที่ดินโฉนดเดิม เมื่อวันที่9 สิงหาคม 2527 จำเลยกับโจทก์ร่วมกันทำหนังสือว่าจ้างช่างทำการก่อสร้างโรงเรือนเป็นตึกแถว 4 ชั้น โดยแบ่งตึกแถวคนละครึ่งให้ตึกแถวส่วนของโจทก์อยู่ทางด้านซ้ายมือบนที่ดินของโจทก์ ของจำเลยอยู่ทางด้านขวามือบนที่ดินของจำเลย เมื่อหันหน้าเข้าอาคาร ก่อนจะให้ช่างลงมือก่อสร้างจะต้องวางหลักปักผังและตรวจสอบหลักเขตโฉนดที่ดินของจำเลยให้ถูกต้องก่อนโจทก์กับสามีได้เตือนให้จำเลยรื้อรั้วที่กั้นระหว่างที่ดินของจำเลยกับที่ดินของผู้มีชื่อหลายครั้งแต่จำเลยดื้อรั้นไม่นำพา ต่อมาเดือนมีนาคม 2530 โจทก์จึงทราบจากการรังวัดสอบเขตที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปางว่าตึกแถวของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ 1ตารางวา ขอให้บังคับจำเลยเสียเงินค่าตอบแทนเป็นค่าใช้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่จำเลยรุกล้ำ และให้โจทก์จดทะเบียนภารจำยอมชั่วอายุโรงเรือนของจำเลย และให้อำนาจโจทก์ที่จะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนภารจำยอมนั้นเสียได้เมื่อโรงเรือนจำเลยสลายไปทั้งหมด
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่า จำเลยได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์อย่างไรและส่วนไหนทำให้จำเลยไม่สามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้ โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 25287 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 49 ซึ่งอยู่ติดกัน โจทก์จำเลยตกลงก่อสร้างตึกแถวบนที่ดินดังกล่าวทั้งสองแปลงโดยให้แบ่งตึกแถวคนละครึ่งอยู่ในที่ดินของแต่ละฝ่าย และตกลงใช้คานคอดินกับผนังด้านที่ติดกันร่วมกัน จำเลยให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการหาช่างก่อสร้าง ตรวจสอบและชี้หลักเขตตามโฉนดเพื่อให้ช่างก่อสร้างดำเนินการปักผังตึกแถว และให้โจทก์ดำเนินการควบคุมความถูกต้องของการก่อสร้างจนแล้วเสร็จโดยสุจริต จำเลยไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างที่ดินที่โจทก์อ้างว่ารุกล้ำ 1 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของคานคอดินและผนังที่ใช้ร่วมกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าใช้ที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยเสียเงินค่าตอบแทนเป็นค่าใช้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่จำเลยรุกล้ำแก่โจทก์ กับให้โจทก์จำเลยจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินชั่วอายุของโรงเรือนจำเลย และให้โจทก์มีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินเมื่อโรงเรือนจำเลยสลายไปทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์จำเลยจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมเหนือที่ดินส่วนที่รุกล้ำ และให้โจทก์มีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมได้เมื่อตึกแถวส่วนที่รุกล้ำสลายไปทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะตามฟ้องหาได้มีข้อความว่าโจทก์จำเลยตกลงใช้คานคอดินกับผนังตึกร่วมกันและให้คานคอดินอยู่บนที่ดินของโจทก์จำเลยฝ่ายละครึ่งดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไม่ และโจทก์มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าอาคารของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์อย่างไร ส่วนไหน ขนาดกว้างยาวเท่าไร อยู่ทางทิศไหนของที่ดินเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์บรรยายไว้ชัดว่า ที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินติดต่อกัน จำเลยกับโจทก์ได้ว่าจ้างช่างทำการก่อสร้างตึกแถว 4 ชั้น โดยแบ่งตึกแถวกันคนละครึ่งให้ตึกแถวส่วนของโจทก์อยู่ทางซ้ายมือ ของจำเลยอยู่ทางขวามือเมื่อหันหน้าเข้าอาคารต่อมาโจทก์ทราบจากการรังวัดสอบเขตว่าตึกแถวของจำเลยรุกล้ำที่ดินของโจทก์ประมาณ 1 ตารางวา จึงฟ้องคดีขอให้บังคับจำเลยเสียเงินค่าตอบแทนเป็นค่าใช้ที่ดินของโจทก์ ดังนี้ เห็นว่าสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับตลอดจนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นชัดแจ้งแล้ว แม้จะมิได้บรรยายว่าโจทก์จำเลยตกลงใช้คานคอดินกับผนังตึกร่วมกัน และให้คานคอดินอยู่บนที่ดินของโจทก์จำเลยฝ่ายละครึ่ง หรือมิได้บรรยายรายละเอียดประการอื่น เช่นข้อที่ว่าอาคารของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์อย่างไร ส่วนไหนขนาดกว้างยาวเท่าไร เป็นต้น ก็หาเป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์ขาดสาระสำคัญไปไม่ เพราะข้อที่โจทก์มิได้บรรยายมานั้นเป็นเพียงรายละเอียดซึ่งอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ด้วยเหตุนี้ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า การก่อสร้างตึกแถวนี้โจทก์เป็นฝ่ายนำชี้วางผังคลาดเคลื่อน และโจทก์เองเป็นผู้ควบคุมดูแลและยินยอมให้จำเลยก่อสร้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าใช้ที่ดินส่วนที่รุกล้ำและจดทะเบียนภารจำยอมนั้น ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบมาฟังได้ว่าโจทก์จำเลยร่วมกันว่าจ้างให้นายบุญธรรมก่อสร้างตึกแถว 4 ชั้น โดยตึกแถวของฝ่ายใดก็ให้อยู่บนที่ดินของฝ่ายนั้นและใช้คานคอดินตามแนวเขตที่ดินร่วมกัน ก่อนที่จะมีการลงมือก่อสร้างโจทก์ได้นำชี้แนวเขตที่ดินด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยเพื่อให้นายบุญธรรมวางผัง ขณะนั้นจำเลยก็อยู่ด้วยและมิได้คัดค้านแต่อย่างใด ต่อจากนั้นทั้งโจทก์และจำเลยได้ควบคุมดูแลการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อมีการรังวัดสอบเขตจึงทราบว่าตึกแถวของจำเลยรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ดังนี้ เห็นว่าขณะมีการชี้แนวเขตวางผังและทำการก่อสร้างนั้นจำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นและควบคุมดูแลแต่ก็ไม่ทราบว่ามีการก่อสร้างคลาดเคลื่อนทำให้ตึกแถวของจำเลยรุกล้ำที่ดินของโจทก์ กรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ก่อสร้างตึกแถวรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต จำเลยจะอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของโจทก์เองหาได้ไม่ และจะถือว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยก่อสร้างตึกแถวรุกล้ำที่ดินของโจทก์ก็ไม่ได้ เพราะโจทก์ จำเลยตกลงกันมาแต่ต้นเพียงว่าให้ตึกแถวของโจทก์จำเลยตั้งอยู่บนที่ดินของแต่ละฝ่ายทั้งจะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะจำเลยก็มีหน้าที่ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกัน จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องเสียเงินเป็นค่าใช้ที่ดินส่วนที่รุกล้ำเข้าไปให้แก่โจทก์ และมีสิทธิที่จะให้จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอม ต่อภายหลังถ้าตึกแถวนั้นสลายไปทั้งหมด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกรุกล้ำจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน

Share