คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5795/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1(ผู้ให้เช่าซื้อ) กับจำเลยที่ 2(ธนาคารผู้รับจำนองที่ดินที่ให้เช่าซื้อ) มีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1ยอมให้จำเลยที่ 2 รับเงินมัดจำ และเงินค่าเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้อทุกงวดแทนจำเลยที่ 1 ได้ และเมื่อผู้เช่าซื้อรายใดชำระเงินตามสัญญาเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 2 ยอมปลดจำนองให้แก่ผู้เช่าซื้อรายนั้นทันที เช่นนี้เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นเป็น3 ฉบับ โดยโจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถือไว้คนละฉบับแสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้แล้วว่าโจทก์เป็นผู้เช่าซื้อที่ดินจึงถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 2ที่เป็นลูกหนี้แล้วว่าจะถือเอาประโยชน์จากข้อสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนและแจ้งให้จำเลยที่ 2 ปลดจำนอง เพื่อให้จำเลยที่ 1โอนที่ดินให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่ดำเนินการให้ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์โดยตรง แต่ก็ยอมผูกพันตนในอันที่จะปลดจำนองและจัดการให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้เช่าซื้อที่ชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ดังนี้เมื่อโจทก์เป็นผู้เช่าซื้อที่ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ปลดจำนองเพื่อจะได้รับโอนโฉนดที่ดินแปลงที่เช่าซื้อแต่จำเลยที่ 2 บ่ายเบี่ยงและต่อมากลับปลดจำนองให้จำเลยที่ 1โดยไม่จัดการให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญา จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 2 ละเลยในการปฏิบัติการเพื่อร่วมชำระหนี้ตามสัญญาต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่ได้รับโอนที่ดินที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 2ย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินที่โจทก์เช่าซื้อให้แก่บุคคลอื่นไปทำให้สภาพแห่งการบังคับชำระหนี้ตามสัญญาไม่อาจบังคับได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1รับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ไม่ได้รับโอนที่ดินตามสัญญา การที่โจทก์ไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาเช่าซื้อเป็นเพราะจำเลยที่ 2 ทำผิดหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกดังกล่าว ความเสียหายของโจทก์ที่เกิดจากการไม่ได้ที่ดินตามที่เช่าซื้อทั้งหมดจึงเป็นความเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 2 โดยตรง จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดในความเสียหายทั้งหมดร่วมกับจำเลยที่ 1 มิใช่รับผิดเพียงไม่เกินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 2 รับไว้เท่านั้น เจตนาของโจทก์ที่เช่าซื้อที่ดินก็ต้องการได้ที่ดินไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเป็นสำคัญ การที่โจทก์ไม่อาจบังคับตามสัญญาเพื่อให้ได้ที่ดินนั้นมาตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ย่อมเห็นได้ว่า โจทก์เสียหายมากกว่าจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์มากกว่าจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระไปแล้วดังกล่าวได้ ค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 วรรคแรกเมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 2 หวังว่าจะได้รับค่าเช่าซื้อ แต่ไม่ยอมรับรู้หน้าที่ตามสัญญาที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องทั้ง ๆ ที่การที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อเพราะความเชื่อถือจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่อยู่ในความไว้วางใจของประชาชน แต่จำเลยที่ 2 กลับบ่ายเบี่ยงเลี่ยงละหน้าที่จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์เช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าคดีมีทุนทรัพย์ถึง 513,300 บาท การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ใช้ค่าทนายความเป็นเงิน 20,000 บาท ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 64083 และ 64084 แขวงลาดพร้าว เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร พร้อมกับจดทะเบียนปลดจำนองที่ดินทั้งสองแปลงนั้นให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าธรรมเนียมการโอนทั้งหมดหากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าเช่าซื้อที่ดิน จำนวน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่จำเลยรับเงินแต่ละงวดคิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 83,338.18 บาท และจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์ และหากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์ด้วย และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 430,000บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่10582 แขวงลาดพร้าว เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แต่มิได้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 64083 และ 64084 ตามฟ้อง จำเลยที่ 1นำที่ดินโฉนดเลขที่ 10582 ไปจำนองไว้กับจำเลยที่ 2 สาขาท่าดินแดงเพื่อประกันการชำระหนี้ ต่อมาจำเลยที่ 2 ตกลงให้จำเลยที่ 1นำที่ดินไปให้บุคคลต่าง ๆ เช่าซื้อแล้วนำเงินที่ได้จากการชำระหนี้ค่าเช่าซื้อมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่เคยให้โจทก์เช่าซื้อ โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อปลอมขึ้นเอง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดที่ดินไม่ได้มีราคาเพิ่มขึ้นถึง 300,000 บาทตามฟ้อง แต่มีราคาเพียงตารางวาละ 1,000 บาทโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเพียงราคาค่าเช่าซื้อที่ชำระแล้ว ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินตามฟ้องเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โจทก์เป็นบุคคลภายนอกสัญญา หนังสือสัญญาเช่าซื้อที่ดินตามฟ้องเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แม้จำเลยที่ 2 รู้เห็นเป็นพยานด้วยก็มิใช่ในฐานะคู่สัญญา จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน จำนวน430,000 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 10582 จำเลยที่ 1 นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้กับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินแปลงที่จำนองออกเป็นแปลงย่อยเพื่อขายแก่บุคคลทั่วไปตามเอกสารหมาย ล.2/4 โจทก์ได้เช่าซื้อที่ดินที่จำเลยที่ 1แบ่งแยกออกมาจำนวนสองแปลงตามสัญญาเช่าซื้อ เอกสารหมาย จ.2และ จ.6 โดยโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.7 จนครบถ้วนตามสัญญาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับโอนที่ดินตามสัญญา จำเลยที่ 2 ได้ปลดจำนองที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่บุคคลภายนอกไป
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.2/5 มีสาระสำคัญว่า ในการแบ่งขายที่ดินนั้น จำเลยที่ 1ยอมให้จำเลยที่ 2 รับเงินมัดจำและเงินค่าเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้อทุกรายแทนจำเลยที่ 1 ได้ และเมื่อผู้เช่าซื้อรายใดชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 2 ยอมปลดจำนองให้แก่ผู้เช่าซื้อรายนั้นทันที ดังนี้ เห็นว่าเป็นสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกและข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบ โดยจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างว่า ในการทำสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 และ จ.6 นั้นได้ทำขึ้นเป็น 3 ฉบับ โดยโจทก์ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เก็บไว้คนละฉบับอันเป็นกรณีที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้รู้แล้วว่าโจทก์เป็นผู้เช่าซื้อที่ดินที่จำเลยที่ 1 แบ่งขาย ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 2 ที่เป็นลูกหนี้ตามสัญญา เอกสารหมาย ล.2/5 ข้อ 5 นี้แล้วว่าจะถือเอาประโยชน์จากข้อสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันปฏิบัติการชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.2/5 ข้อ 5 ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ข้อเท็จจริงได้ความจากการนำสืบของโจทก์ต่อไปว่า เมื่อโจทก์ชำระราคาค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 และ จ.6 ครบถ้วนแล้ว โจทก์ได้แจ้งขอให้จำเลยที่ 2 ปลดจำนองเพื่อให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้โจทก์แต่จำเลยที่ 2 ไม่ปลดจำนองให้ตามที่โจทก์เรียกร้อง ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบการที่จำเลยที่ 2 ไม่ปลดจำนองเพื่อให้โจทก์ไปโอนที่ดินที่เช่าซื้อโดยปลดจำนองได้เช่นนี้กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามสัญญา เอกสารหมายล.2/5 ข้อ 5 ดังที่ได้กล่าวข้างต้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2ได้
จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อสองว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่คู่สัญญาเช่าซื้อกับโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ข้อนี้เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับชำระราคาค่าเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.6 ครบถ้วนแล้วตามใบเสร็จรับเงิน และหลักฐานใบเข้าบัญชีชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ดินเอกสารหมาย จ.7, จ.8 และ จ.9 และได้ความจากคำเบิกความของตัวโจทก์และนางสาวรัตนาพร ศรีเพ็ญ นางลินดา ฉันทวานิช ซึ่งเช่าซื้อที่ดินที่จำเลยที่ 1 จัดสรรว่าเหตุที่เช่าซื้อเพราะเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการและตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2และ จ.6 ถึงแม้จะระบุในตอนต้นว่าโจทก์เป็นผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 1เป็นผู้ให้เช่าซื้อก็ตาม แต่ในตอนท้ายของสัญญามีเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ลงชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนธนาคารจำเลยที่ 2 และในสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวทั้งสองฉบับมีข้อความระบุไว้ในข้อ 3 ว่า “ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเช่าซื้อภายในวันที่ 5ของทุกเดือนจนกว่าจะครบจำนวนตามข้อ 1 และการชำระเงินค่าเช่าซื้อทุกครั้งของผู้เช่าซื้อธนาคารจะออกใบเสร็จรับเงินแทนให้ทุกครั้งเช่นกัน” และมีสัญญาข้อ 4 ว่า “เมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว ธนาคารฯ ยินยอมปลดจำนอง และผู้ให้เช่าซื้อจัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้เช่าซื้อ…” เมื่อพิจารณาข้อความที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวประกอบสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1ที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.2/5 ข้อ 5 ตามที่กล่าวไว้ในคำวินิจฉัยข้อแรกและข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์และผู้เช่าซื้อรายอื่นที่ว่าที่ตกลงเช่าซื้อเพราะเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการแล้วเห็นได้ว่าแม้จำเลยที่ 2 จะไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์โดยตรง แต่ก็ยอมผูกพันตนในอันที่จะปลดจำนองและจัดการให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้เช่าซื้อที่ชำระราคาแก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว ตามข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวในการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกนั้นเมื่อโจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้วโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ปลดจำนองเพื่อจะได้รับโอนโฉนดที่ดินแปลงที่เช่าซื้อ แต่จำเลยที่ 2 ก็บ่ายเบี่ยงโดยไม่มีเหตุอ้างที่จะละเว้นในการกระทำการตามหน้าที่ในสัญญาเอกสารหมาย ล.2/5ต่อมากลับปลดจำนองให้จำเลยที่ 1 โดยไม่จัดการให้จำเลยที่ 1โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่เช่าซื้อตามข้อสัญญาที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 และ จ.6 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1ละเลยในการปฏิบัติการเพื่อร่วมชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาต่อโจทก์ทำให้โจทก์ไม่ได้รับโอนที่ดินที่เช่าซื้อ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่กำหนดในสัญญา และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินทั้งสองแปลงที่โจทก์เช่าซื้อให้บุคคลอื่นไป จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดสำหรับความเสียหายของโจทก์ที่ไม่ได้รับโอนโฉนดที่ดินตามสัญญา
จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อที่สามว่า จำเลยที่ 2 ไม่ควรต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนที่เกินจากค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 2 รับไว้ และค่าเสียหายสูงเกินส่วนเห็นว่า การที่โจทก์ไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นเพราะจำเลยที่ 2 ทำผิดหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามเอกสารหมาย ล.2/5 ความเสียหายของโจทก์ที่เกิดจากการไม่ได้ที่ดินตามที่เช่าซื้อทั้งหมดจึงเป็นความเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 2 โดยตรง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดร่วมกับจำเลยที่ 1 มิใช่ว่าจำเลยที่ 2 จะรับเอาแต่ได้ถ่ายเดียว สำหรับค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้นอกเหนือจากค่าเช่าซื้อ 130,000 บาท นั้น เจตนาของโจทก์ที่เช่าซื้อที่ดินก็ต้องการได้ที่ดินไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเป็นสำคัญ การที่โจทก์ไม่อาจบังคับตามคำขอเพื่อให้ได้ที่ดินมาตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้นั้น เห็นได้ว่าโจทก์เสียหายมากกว่าจำนวนเงินที่ชำระเป็นค่าเช่าซื้อไปแล้ว เพราะเป็นที่เห็นได้โดยทั่วไปว่า ราคาที่ดินจากปีที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อเสร็จตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 จนถึงปี พ.ศ. 2529 นั้น ราคาที่ดินสูงขึ้นกว่าเดิมในจำนวนมิใช่น้อย ซึ่งตามคำเบิกความของร้อยตรีสะอาด ชมบุญพยานโจทก์ก็ได้ความว่าราคาประเมินตารางวาละประมาณ 2,000 บาทซึ่งการซื้อขายที่ดินจริง ๆ นั้นราคาสูงกว่าราคาประเมิน การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 300,000 บาทนั้น เห็นว่าเป็นค่าเสียหายที่เป็นไปเช่นนั้นจริง
จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความสูงเกินไป เห็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ศาลจะใช้ดุลพินิจกำหนดโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 วรรคแรก และเมื่อพิจารณาถึงเหตุสมควรสำหรับกรณีของจำเลยที่ 2 และความสุจริตในการสู้ความแล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นจำเลยที่ 2 หวังว่าจะได้รับค่าเช่าซื้อแต่ไม่ยอมรับรู้หน้าที่ตามสัญญาที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องทั้ง ๆ ที่การที่โจทก์จะทำสัญญาเช่าซื้อนั้นก็โดยอาศัยความเชื่อถือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ต้องอยู่ในความไว้วางใจของประชาชน แต่จำเลยที่ 2ก็บ่ายเบี่ยงละหน้าที่จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ใช้ค่าทนายความเป็นเงิน 20,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์ในคดีแล้วไม่มีเหตุจะกำหนดให้ลดลงตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา
พิพากษายืน

Share