คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2189/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่จำเลยกระทำผิดพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรพนักงานอัยการโจทก์ ไม่มีอำนาจขอให้จ่ายสินบนนำจับ เพราะพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรมิได้ระบุให้อำนาจไว้และการจ่ายก็บัญญัติไว้เป็นพิเศษ จะอนุโลมนำบทบัญญัติมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมาใช้ในกรณีนี้หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องใจความว่า จำเลยผู้ขายปลีกข้าวสารได้บังอาจขายข้าวสารเจ้า 5% จำนวน 1 ถังเล็ก เกินกำหนดราคาสูงสุดที่ควบคุมโดยประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศดังกล่าว ซึ่งออกตามความในมาตรา 6 และ 8แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 มีผู้แจ้งความนำเจ้าพนักงานจับตัวจำเลยได้พร้อมของกลาง คือ ข้าวสารเจ้า 1 ถังเล็กและถังเล็ก 1 ใบ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 มาตรา 5, 6, 8, 17, 18, 29, 30 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8 ประกาศคณะกรรมการป้องกันการค้ากำไรเกินควร จังหวัดชัยภูมิ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2516 เรื่องควบคุมและกำหนดราคาสูงสุดของข้าวสารเจ้า ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลนำจับตามกฎหมายด้วย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วปรับ 250 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จ่ายเงินสินบนนำจับร้อยละสามสิบของราคาของกลางหรือค่าปรับ ให้จ่ายเงินรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับแก่ผู้แจ้งความนำจับและเจ้าพนักงานผู้จับริบเฉพาะข้าวสารของกลาง ส่วนถังเล็ก 1 ใบ เป็นภาชนะที่ใช้ในการตวงปริมาณข้าวเท่านั้น ไม่ริบ

โจทก์อุทธรณ์ขอให้จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับและริบถังของกลาง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์เฉพาะที่ขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับนั้นเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้แจ้งความเป็นจำนวนหนึ่งของเงินค่าปรับ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 มาตรา 30 นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรมิได้ระบุให้อำนาจพนักงานอัยการโจทก์ร้องขอต่อศาลให้จ่ายสินบน และการจ่ายสินบนนั้นพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรบัญญัติไว้เป็นพิเศษแตกต่างกับพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดพุทธศักราช 2489 กรณีไม่อาจอนุโลมนำบทบัญญัติมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดดังกล่าวที่บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้จ่ายสินบนแก่ผู้แจ้งความมาปรับบังคับแก่คดีนี้ได้ เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจขอให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้แจ้งความตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรแล้วคดีจึงไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลชั้นต้นให้จ่ายสินบนนำจับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดร้อยละสามสิบนั้น ไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้อง ให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้แจ้งความตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร ดังฎีกาของโจทก์ต่อไป ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share