แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อระยะเวลาตามสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแต่จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์คงจ้าง ต่อมาอีก กรณีต้องถือว่าจำเลยจ้างโจทก์ต่อไปใหม่ โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะบอกเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยมีปัญหาด้านการเงินดังนี้เป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด และไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ สัญญาจ้างที่มีระยะเวลาการจ้างขาดช่วงไม่ต่อเนื่องกันต้องถือว่าจำเลยจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาการจ้างของสัญญาแต่ละฉบับ ปัญหาว่าสัญญาจ้างเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเป็นเงิน4,388 บาท และ 26,328 บาท ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้รับการจัดตั้งจากทบวงมหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา ส่งเสริมวิทยาลัยและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทุนบำรุงศิลปวัฒนธรรมมิใช่หน่วยงานที่ดำเนินการธุรกิจแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายคุ้มครองแรงงานศาลแรงงานไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ และจำเลยตกลงจะจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์สามเดือน โจทก์แสดงเจตนายอมรับข้อเสนอของจำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ จึงเสนอสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
วันนัดฟังคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางโจทก์และอธิการวิทยาลัยจำเลยมาศาล ศาลแรงงานกลางอ่านคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้โจทก์จำเลยฟังแล้ว ครั้งแล้วจำเลยแถลงว่า จำเลยได้จ้างอาจารย์เป็นปี ๆ ไปเพราะจะต้องดูงบประมาณแต่ละปีว่ามีรายได้ปีละเท่าไร และสามารถจ้างอาจารย์ได้กี่คน จึงเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เดือนตุลาคม 2530จำเลยมีเงินใช้จ่ายไม่พอเพียงจึงได้เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดสัญญาจ้างโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย โจทก์ส่งใบอนุญาตให้เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยจำเลย ออกบัตรวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2527 โดยรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ศาลแรงงานกลางรับไว้ จำเลยส่งสัญญาจ้างการเป็นผู้สอนในวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2525สัญญาค้ำประกันการเป็นผู้สอนในวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ ลงวันที่ 20ธันวาคม 2525 คำร้องขอต่ออายุสัญญาจ้างและสัญญาค้ำประกัน ลงวันที่31 สิงหาคม 2527 สัญญาจ้างอาจารย์ประจำวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2527 สัญญาค้ำประกันผู้สอนในวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ (ไม่ปรากฎวัน เดือน ปี ที่ทำ) สัญญาจ้างอาจารย์ประจำวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ ลงวันที่ 12 เมษายน 2529 สัญญาค้ำประกันผู้สอนในวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ ลงวันที่ 12 เมษายน 2529 ต่อศาล โจทก์ดูเอกสารดังกล่าวแล้วแถลงรับว่าเป็นสัญญาที่ทำกับจำเลยจริง แต่เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายทำให้โจทก์เสียเปรียบ ศาลแรงงานกลางรับไว้ จำเลยอ้างเฉพาะสัญญาจ้างอาจารย์ประจำ พ.ศ. 2525, พ.ศ. 2527, พ.ศ. 2529 ศาลแรงงานกลางสั่งรับและให้ถือเป็นพยานของศาล ครั้งแล้วคู่ความแถลงขอให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า การทำสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยติดต่อกัน 3 ครั้งนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าชดเชยให้โจทก์หรือไม่เพียงใดตามพยานหลักฐานที่มีอยู่ (และตาม) คำแถลงรับกันโดยไม่ขอสืบพยานประเด็นอื่นหากมีขอสละ ศาลแรงงานกลางสอบคู่ความทั้งสองฝ่ายอีกคู่ความแถลงรับกันว่าโจทก์ได้ทำงานกับจำเลยเมื่อปี พ.ศ. 2525ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้นัดฟังคำพิพากษา
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 โดยจะเริ่มเป็นผู้สอนตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2526 มีกำหนดเวลาจ้าง 2 ปี พอถึงวันที่31 สิงหาคม 2527 โจทก์ได้ยื่นคำขอต่ออายุออกไปอีก 1 ปี และได้ทำสัญญาในวันเดียวกันนั้นโดยจะเริ่มเป็นผู้สอนตั้งแต่วันที่1 เมษายน 2527 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2528 สัญญาครั้งที่ 3 ทำเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2529 โดยจะเริ่มสอนตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2529ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2530 หลังจากระยะเวลาจ้างสุดสิ้นแล้วก็ไม่มีการทำสัญญาจ้างต่อกันอีก ด้วยข้อเท็จจริงตามที่กล่าวข้างต้นศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า หากสัญญาจ้างฉบับที่ 1 มีกำหนดว่าจ้าง2 ปี สัญญาก็ควรสุดสิ้นวันที่ 2 มกราคม 2528 แต่ปรากฎว่าสัญญาฉบับที่ 2 โจทก์จะทำการสอนในวันที่ 1 เมษายน 2527 ถึงวันที่ 31มีนาคม 2528 สัญญาจ้างไม่ต่อกัน สัญญาจ้างฉบับแรกได้สุดสิ้นในเดือนมกราคม 2527 แล้วจึงมีการทำสัญญาฉบับที่ 2 เริ่มทำการสอนตั้งแต่วันที่1 เมษายน 2527 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2528 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามฉบับไม่ได้ต่อเนื่องกันสมด้วยคำแถลงของอธิการวิทยาลัยจำเลยที่ว่า จำเลยต้องจ้างอาจารย์เป็นปี ๆ ไป เพราะจะต้องดูงบประมาณแต่ละปี การที่จำเลยจ้างโจทก์มิใช่หลีกเลี่ยงกฎหมายแรงงานมิได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบ เป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อสัญญาฉบับที่ 3 สุดสิ้นลงในวันที่ 31 มีนาคม 2530 แล้วไม่มีการต่อสัญญากันอีก สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เมื่อสัญญาสุดสิ้นแล้วจำเลยก็เลิกจ้างโจทก์ สัญญาเป็นอันเลิกกัน เพียงแต่โจทก์แสดงใบอนุญาตว่าโจทก์เป็นอาจารย์ประจำเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนจะถือว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำย่อมไม่ถูกต้อง ข้ออ้างของโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำฟังไม่ขึ้น ดังนั้นการที่จำเลยเลิกจ้างไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ เพราะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ว่า อุทธรณ์ที่ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหรือไม่เป็นข้อกฎหมาย ให้รับอุทธรณ์โจทก์ไว้พิจารณา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาคงมีสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเพียงสามฉบับเท่านั้นที่โจทก์อุทธรณ์ว่ายังมีอีกฉบับหนึ่งมีระยะเวลาการจ้างสุดสิ้นวันที่31 มีนาคม 2531 นั้น ศาลแรงงานกลางหาได้รับฟังดังนั้นไม่ อุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ให้ฟังข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา ศาลฎีกาจะฟังว่ามีสัญญาฉบับที่ 4 อีกฉบับหนึ่งตามที่โจทก์อุทธรณ์หาได้ไม่
ข้อเท็จจริงที่รับฟังตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางมีว่า สัญญาฉบับที่ 1 ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 มีระยะเวลาการจ้างขาดช่วงไม่ต่อเนื่องกัน ดังนั้น จะถือว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยเป็นระยะเวลาติดต่อกันจนครบกำหนดระยะเวลาการจ้าง ฉบับที่ 3หาได้ไม่ ต้องถือว่าจำเลยจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาการจ้างของสัญญาแต่ละฉบับเป็นปี ๆ ไป
เมื่อกรณีเป็นดังนี้ โจทก์จะนับระยะเวลาการทำงานตั้งแต่วันที่3 มกราคม 2526 ติดต่อกันจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2530 จึงนับไม่ได้
ตามสัญญาฉบับที่ 3 โจทก์เริ่มทำการสอนตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน2529 และสุดสิ้นเวลาการสอนวันที่ 31 มีนาคม 2530 ซึ่งความข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน เมื่อสุดสิ้นสัญญาแล้วจำเลยเลิกจ้าง สัญญาเป็นอันเลิกกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหาถูกต้องไม่ เพราะโจทก์ฟ้องว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2530 จำเลยก็มิได้ต่อสู้ความข้อนี้ประการใด ทั้งตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 28 ธันวาคม 2530 อธิการวิทยาลัยจำเลยก็แถลงรับว่า จำเลยได้ลดจำนวนบุคลากรลงตั้งแต่เดือนตุลาคม2530 ครั้งแรกลด 45 คน แล้วเรียกกลับ 10 คน คงเลิกจ้าง 30 คนรวมทั้งโจทก์ด้วย ครั้งเดือนพฤศจิกายน 2530 อธิการวิทยาลัยจำเลยจึงดำเนินการช่วยเหลืออาจารย์ที่ถูกเลิกจ้างโดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้คนละ 3 เดือน รวมทั้งโจทก์ด้วย แต่ยังไม่ทันทำบันทึกกับโจทก์กรณีเป็นดังที่กล่าวข้างต้นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์วันที่ 1 พฤศจิกายน 2530
ตามสัญญาฉบับที่ 3 ระยะเวลาการจ้างสุดสิ้นเมื่อวันที่ 31มีนาคม 2530 แต่จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์คงจ้างต่อมาอีก กรณีนี้จึงต้องถือว่า จำเลยจ้างโจทก์ต่อไปใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมซึ่งคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581 ดังนั้นการจ้างโจทก์อันสืบเนื่องมาจากนี้จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยมีปัญหาด้านการเงินเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์
โจทก์ทำงานตามสัญญาฉบับที่ 3 นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2529ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2530 เป็นเวลาครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(2)
ค่าจ้างอัตราสุดท้ายอันประกอบด้วยเงินเดือนกับค่าครองชีพจำเลยไม่ได้ต่อสู้เป็นประการอื่น จึงต้องฟังว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 4,388 บาท ตามคำฟ้อง
จำเลยเลิกจ้างโจทก์วันที่ 1 พฤศจิกายน 2530 โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือวันที่ 31 ธันวาคม 2530 เป็นจำนวน 59 วัน คิดเป็นเงิน 8,629.83 บาท แต่โจทก์ขอมาเพียง 4,388 บาท จึงควรให้เท่าที่โจทก์ขอ
สำหรับค่าชดเชย 90 วัน คิดตามค่าจ้างอัตราสุดท้ายได้13,164 บาท
ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า4,388 บาท ค่าชดเชย 13,164 บาท กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับเงินต้นค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์”