คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1893/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การโอนสิทธิเรียกร้องนั้น เพียงทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนฝ่ายเดียวก็สมบูรณ์ หาจำต้องลงลายมือชื่อผู้รับโอนด้วยไม่ แต่การโอนนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอน โดยได้ทำคำบอกกล่าวหรือความยินยอมเป็นหนังสือ
การโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลานั้น ย่อมโอนกันได้ หาต้องห้ามตามกฎหมายไม่ เพราะสิทธิที่โอนมีอยู่อย่างไรเท่าใด ผู้รับโอนก็รับโอนไปเพียงนั้นเท่านั้น
จำเลยโอนสิทธิที่จะได้รับค่าระวางเรือส่วนลดจากบริษัทเรือให้แก่ธนาคารผู้ร้อง เพื่อที่จำเลยจะได้เบิกเงินเกินบัญชีจากผู้ร้องต่อไปอีกตามข้อตกลงระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ได้กระทำขึ้นหลังจากที่ผู้ร้องได้แสดงเจตนาจะปิดบัญชีไม่ยอมให้จำเลยเบิก เพราะจำเลยยังเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่ถึงหนึ่งล้านบาทเศษ และเกินยอดสูงสุดที่ได้ตกลงกันไว้ก่อน ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน

ย่อยาว

กรณีนี้พิพาทกันมาตั้งแต่คดีที่โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยอมความยอมใช้หนี้ โดยในคดีนั้นศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอายัดเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากบริษัทเรือ 4 บริษัทผู้ร้องได้ร้องขอให้ถอนการอายัด อ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องไปแล้ว ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แล้วพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เงินที่ถูกอายัดดังกล่าว ทางกองหมายได้รายงานต่อศาลชั้นต้นว่าได้โอนมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดไว้ในคดีนี้แล้ว ผู้ร้องได้ร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และได้ถอนคำร้องขอในคดีเดิมนั้นเสีย ใจความที่ร้องมีว่า จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องในการที่จะได้เงินค่าระวางเรือส่วนลดจากบริษัทเดินเรือทั้งสี่ให้แก่ผู้ร้องแล้วโดยทำเป็นหนังสือโอนสิทธิ ตลอดจนบอกกล่าวให้ผู้ร้องและบริษัทเดินเรือทราบ และบริษัทเดินเรือทั้งสี่ก็ยอมจ่ายเงินแก่ผู้ร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีสิทธิที่จะเอาเงินจำนวนที่จะได้จาก 4 บริษัทนี้เข้าเป็นกองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายขอให้มีคำสั่งว่า เงินทั้งสี่จำนวนที่บริษัทเดินเรือส่งมาไว้นั้น และเงินทั้งหมดที่จะได้จากบริษัทเดินเรือทั้งสี่รายนี้เป็นของผู้ร้อง ให้คืนแก่ผู้ร้อง

โจทก์แก้คดีว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในเงินเหล่านี้ให้ผู้ร้อง แต่เสนอขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากผู้ร้องและยอมให้เอาเงินค่าระวางเรือส่วนลดที่จะได้รับชดใช้หนี้นั้นแต่แล้วผู้ร้องไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชี ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิรับเงินค่าระวางเรือส่วนลดนี้ทั้งสิทธินี้ยังมีเงื่อนไขเงื่อนเวลาบังคับอยู่ จึงหาได้โอนไปเป็นของผู้ร้องไม่ โจทก์ขออายัดไว้ตั้งแต่เงื่อนไขเงื่อนเวลายังไม่ทันสำเร็จ ผู้ร้องจึงหมดสิทธิ การโอนกระทำระหว่าง 3 ปีก่อนล้มละลายโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน

ต่อมาเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขอถอนตัว แต่มีเจ้าหนี้อื่นดำเนินการคัดค้านแทน

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง

ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้กลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงคัดค้าน

ผู้ร้องแถลงไม่สืบพยานเพิ่มเติมจากที่ได้เสนอไว้ในชั้นไต่สวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า เงินสี่จำนวนที่บริษัทเคี่ยนหงวน(ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทดีทแฮล์ม จำกัด, บริษัทเบนไลน์สตีมเมอร์ส จำกัด, บริษัทอิสต์เอเซียติ๊ก จำกัด ส่งมาเป็น เงิน 67,600.17 บาท, 88,428.70 บาท, 86,699.59 บาท และ 243,040 บาท ตามลำดับ ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดถือไว้ในฐานะเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ล้มละลายนั้น เป็นเงินที่ได้มาจากการใช้สิทธิเรียกร้องที่ตกไปเป็นของผู้ร้องอยู่ก่อนโดยชอบแล้ว รวมทั้งผู้ร้องมีสิทธิในเงินที่หากจะพึงได้จากสี่บริษัทนี้อีกตามสิทธิเรียกร้องที่ได้รับโอนมานั้น ซึ่งเป็นค่าระวางเรือส่วนลด 10% ในงวดครึ่งปีหลัง พ.ศ. 2503 และงวดครึ่งปีแรก พ.ศ. 2504 เงินที่เรียกเก็บมาไว้แล้วและที่จะพึงได้อีกเหล่านี้ไม่ตกอยู่ในกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ล้มละลาย แต่เป็นของผู้ร้อง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คืนเงินที่รักษาไว้แล้วนั้นให้ผู้ร้องไป

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

ฎีกาข้อ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องมิได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องไว้ต่อกันศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า การโอนสิทธิเรียกร้องต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ และการโอนนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ หรือลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น โดยทำคำบอกกล่าวหรือความยินยอมเป็นหนังสือ หาได้บัญญัติว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนไม่ ฉะนั้นการโอนสิทธิเรียกร้องที่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนฝ่ายเดียวก็เป็นการสมบูรณ์ เอกสาร ร.33 ถึง 44 เป็นหนังสือที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าหนี้ทำขึ้น แสดงเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องค่าระวางเรือส่วนลดที่มีต่อบริษัทเรือทั้งสี่ผู้เป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่ผู้ร้อง โดยบอกกล่าวให้บริษัทเรือจ่ายค่าระวางเรือส่วนลดนั้น ๆ ให้แก่ผู้ร้อง ถือได้ว่า การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ได้ทำเป็นหนังสือเป็นการสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว

ฎีกาข้อ 2 ศาลฎีกาเห็นว่า การโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งมีเงื่อนไขเงื่อนเวลานั้น ย่อมโอนกันได้ เพราะสิทธิที่โอนมีอยู่อย่างไรเท่าใด ผู้รับโอนก็รับโอนไปเพียงนั้นเท่านั้น หาต้องห้ามตามบทกฎหมายไม่ และข้อเท็จจริงฟังได้ตามเอกสารว่า จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทเรือจ่ายค่าระวางส่วนลดสำหรับครึ่งปีแรกพ.ศ. 2504 แก่ผู้ร้อง เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องโดยเด็ดขาดและสมบูรณ์แล้ว

ฎีกาข้อ 3 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ต่อบริษัทเรือให้แก่ผู้ร้องไปโดยเด็ดขาดแล้วมิใช่เพียงเพื่อประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้ผู้ร้อง

ผลแห่งการโอนสิทธิเรียกร้องโดยเด็ดขาด ย่อมทำให้สิทธิที่จะได้รับค่าระวางเรือส่วนลดตกเป็นของผู้ร้อง ขาดจากการเป็นสิทธิหรือทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 สิทธิเรียกร้องรายนี้จึงไม่ตกอยู่ในอำนาจจัดการและครอบครองของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

ฎีกาข้อสุดท้าย ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ให้ผู้ร้อง ก็เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้เบิกเงินเกินบัญชีจากผู้ร้องต่อไปอีกตามข้อตกลงกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องที่ได้กระทำขึ้นหลังจากที่ผู้ร้องได้แสดงเจตนาจะปิดบัญชีไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิก เพราะจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้เงินเบิกเกินบัญชีอยู่ถึงหนึ่งล้านบาทเศษ และเกินยอดสูงสุดที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนดังนี้ ย่อมถือได้ว่า เป็นการโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนแล้ว

พิพากษายืน

Share