คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2186/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในเรื่องการยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสี่ ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น การขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ผู้ฎีกาต้องยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้น คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์แล้ว แต่การที่โจทก์ยื่นคำร้องในวันรุ่งขึ้นซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดอายุฎีกาขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นพิจารณาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยที่โจทก์มิได้ยื่นฎีกาฉบับใหม่เข้ามา ถือได้ว่า โจทก์ประสงค์จะขอถือเอาฎีกาฉบับเดิมที่ศาลชั้นต้นสั่งรับไปแล้วเป็นฎีกาประกอบคำร้องขออนุญาตฎีกาของโจทก์ กรณีย่อมอนุโลมได้ว่าโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงพร้อมคำฟ้องฎีกา และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์แล้ว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่รับฟ้อง ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายืน จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 220 และ 221

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145, 83
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่รับฟ้อง จำหน่ายคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามฟ้องและโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้อง นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2548 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2548 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาได้รับฎีกา โดยถือว่าเป็นการรับรองการรับฎีกาไว้แล้ว เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฎิบัติในเรื่องการยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสี่ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น การขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ผู้ฎีกาต้องยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้น คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาโจทก์แล้ว แต่การที่โจทก์ยื่นคำร้องในวันรุ่งขึ้นยังอยู่ภายในกำหนดอายุฎีกาขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นพิจารณาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยที่โจทก์มิได้ยื่นฎีกาฉบับใหม่เข้ามาถือได้ว่า โจทก์ประสงค์จะขอถือเอาฎีกาฉบับเดิมที่ศาลชั้นต้นสั่งรับไปแล้วเป็นฎีกาประกอบคำร้องขออนุญาตฎีกาของโจทก์กรณีย่อมอนุโลมได้ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงพร้อมคำฟ้องฎีกาและผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์แล้ว โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องเป็นความผิดตามฟ้องและโจทก์เป็นผู้เสียหาย ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่รับฟ้องส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีมูลความผิดตามฟ้องพิพากษายืน จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 และ 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share