แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 2 และข้อ 4 และบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินมีใจความโดยสรุปว่า ในระยะ 3 ปีแรก นับแต่วันทำสัญญากู้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ในอัตราคงที่ตามบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน โดยในปีแรกอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี ปีที่ 2 อัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี และปีที่ 3 อัตราร้อยละ 5.5 ต่อปี ต่อจาก 3 ปีนั้นแล้วจึงมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงตามกฎหมาย แต่ถ้าจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วง 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินหรือหลังจากนั้นก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เสมอ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะ 3 ปีแรกก็ดี ดอกเบี้ยหลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม แต่ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสองหลังจากที่จำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ เห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินข้อ 4 ที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ดอกเบี้ยจำนวนนี้จึงเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 373 วรรคหนึ่ง
โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง โดยขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงินตามฟ้อง นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท และค่าขึ้นศาลสำหรับดอกเบี้ยในอนาคตอีก 100 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2) และข้อ (4) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจากจำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้อง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาสำหรับส่วนที่เกิน 300 บาท แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 196,011.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 183,111.88 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2491 ตำบลแสนตอ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 193,612.99 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 182,466.67 บาท นับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2491 ตำบลแสนตอ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์จากอัตราร้อยละ 14 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยวินิจฉัยว่าเป็นเบี้ยปรับนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 2 และข้อ 4 และบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน มีใจความโดยสรุปว่า ในระยะ 3 ปีแรกนับแต่วันทำสัญญากู้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ในอัตราคงที่ตามบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน โดยในปีแรกอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี ปีที่ 2 อัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี และปีที่ 3 อัตราร้อยละ 5.5 ต่อปี ต่อจาก 3 ปีนั้นแล้วจึงมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงตามกฎหมาย แต่ถ้าจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใดไม่ว่าจะอยู่ในช่วง 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินหรือหลังจากนั้นก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เสมอ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะ 3 ปีแรกก็ดี ดอกเบี้ยหลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม แต่ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสองหลังจากที่จำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ เห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินข้อ 4 ที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ ดอกเบี้ยจำนวนนี้จึงเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2549 เป็นเบี้ยปรับนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
อนึ่ง คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง โดยขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 183,111.88 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท และค่าขึ้นศาลสำหรับดอกเบี้ยในอนาคตอีก 100 บาท ตามราราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (2) และข้อ (4) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจากจำนวนทุนทรัพย์ 183,111.88 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาสำหรับส่วนที่เกิน 300 บาท แก่โจทก์”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 300 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ