แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอม เป็นความผิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ปลอมและใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง แม้จำเลยจะปลอมหนังสือของผู้ตายส่งไปถึงนายแพทย์อำนวยการโรงพยาบาล บ. ว่า ผู้ตายขอลาการปฏิบัติงานแล้วลงชื่อปลอมของผู้ตายในหนังสือดังกล่าว และจำเลยได้ปลอมจดหมายของผู้ตายส่งไปถึงนาย ช. กับนางสาว ก. บุตรชายและบุตรสาวของผู้ตายว่า ผู้ตายต้องไปฝึกสมาธิ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารปลอมนั้นผู้ตายได้ทำขึ้นจริง ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็ตาม ในกรณีนี้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาผู้ตายก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ทั้งความผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังจากผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวได้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายจะจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2)
การเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้หรือไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำร้องดังกล่าวของโทก์ที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
ความผิดฐานซ่อนเร้น ทำลายศพผู้ตาย เพื่อปิดบังการตายและความผิดฐานปลอมเอกสารกับฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งต้องลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยจำคุกกระทงละ 1 ปี ดังนั้น ความผิดทั้งสองกระทงดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 2 นำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดทั้งสองกระทงดังกล่าว เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา
จำเลยนัดหมายให้ผู้ตายไปพบและรับประทานอาหารร่วมกันที่ร้านอาหารโดยจำเลยแอบอ้างหลอกลวงผู้ตายเรื่องนัดพบช่างที่จะไปซ่อมแซมบ้านพักผู้ตายระหว่างการรับประทานอาหารร่วมกัน จำเลยลอบนำยานอนหลับที่สั่งซื้อไว้ก่อนหน้านี้ใส่ลงในอาหารหรือเครื่องดื่มให้ผู้ตายรับประทานหรือดื่มจนผู้ตายมีอาการสะลึมสะลือครองสติไม่ได้ หลังจากนั้นจำเลยได้พาผู้ตายไปยังอาคารที่จำเลยจัดเตรียมเปิดห้องพักรอไว้ เพื่อทำการหน่วงเหนี่ยวให้ผู้ตายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย แล้วจำเลยลงมือฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่จำเลยวางแผนไว้ จากนั้นจำเลยได้ชำแหละแยกศพผู้ตายออกเป็นชิ้นเล็กๆ บางส่วนทิ้งลงในชักโครกของห้องพักในอาคาร บางส่วนนำไปทิ้งในโถชักโครกของโรงแรมในวันรุ่งขึ้น เพื่อปิดบังการตายของผู้ตาย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้ตายปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 264, 268, 309, 310, 288, 289, 90, 91, 32, 33 ริบจดหมายและซองจดหมายของกลาง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำนวนแรกแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับโจทก์ที่ 2 ในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมในสำนวนหลัง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 264 วรรคแรก, 268 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก), 310 วรรคแรก, 289 (4) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษตามมาตรา 199 จำคุก 1 ปี ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (ที่ถูกให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 264 วรรคแรก แต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง) จำคุก 1 ปี ความผิดตามมาตรา 310 วรรคแรก และมาตรา 289 (4) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 289 (4) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงประหารชีวิตสถานเดียว ริบจดหมายและซองจดหมายของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยนำสืบรับกันและที่จำเลยรับในฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบิดาของผู้ตาย จำเลยและผู้ตายเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสเมื่อปี 2524 ผู้ตายทำงานเป็นแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ส่วนจำเลยรับราชการเป็นแพทย์อยู่ที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสมรสกันแล้วจำเลยและผู้ตายอยู่กินด้วยกันที่บ้านพักแพทย์ภายในโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นาย ช. และนางสาว ก. ครั้นปลายปี 2541 ผู้ตายและจำเลยเริ่มขัดแย้งกันโดยผู้ตายเข้าใจว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นซึ่งเป็นคนไข้ของจำเลย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2542 ผู้ตายทำบันทึกตามเอกสารหมาย จ.136 ให้จำเลยลงชื่อรับรองว่าจำเลยจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับหญิงคนดังกล่าวอีก วันที่ 27 พฤษภาคม 2542 ผู้ตายจดทะเบียนยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2321 ตำบลสันมะเค็ด อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 41 ไร่เศษ ซึ่งเดิมมีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของให้เป็นสิทธิของจำเลย วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 จำเลยย้ายออกจากบ้านพักไปอาศัยอยู่ที่อื่น และให้ผู้ตายอยู่อาศัยกับบุตรที่บ้านพักแพทย์ตามเดิม แต่จำเลยจะไปรับบุตรทั้งสองในเวลาเช้าเพื่อไปส่งที่โรงเรียนทุกวัน สำหรับผู้ตายจะไปรับบุตรทั้งสองจากโรงเรียนกลับบ้านในเวลาเย็น ช่วงระหว่างที่แยกกันอยู่ผู้ตายกับจำเลยยังคงมีเรื่องขัดแย้งกัน โดยจำเลยเขียนจดหมายลงวันที่ 18 มกราคม 2543 ด่าว่าผู้ตายที่ไม่ยอมหย่าขาดจากจำเลยและเรื่องสินสมรส จำเลยเคยใช้เหล็กดัมเบลล์ทุบรถยนต์ผู้ตายเสียหาย ผู้ตายไปแจ้งความเป็นหลักฐานไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2543 ครั้นวันที่ 29 สิงหาคม 2543 จำเลยฟ้องผู้ตายที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อขอหย่าและแบ่งสินสมรส ผู้ตายให้การต่อสู้คดี และผู้ตายได้ฟ้องจำเลยขอเพิกถอนการยกให้ที่ดินที่จังหวัดเชียงรายเป็นอีกคดีหนึ่ง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางทำการไกล่เกลี่ยในที่สุดจำเลยได้ถอนฟ้องคดีที่ฟ้องหย่าและแบ่งสินสมรสเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2543 ผู้ตายไปแจ้งความเป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อว่าจำเลยไปถ่ายรูปบ้านพักของผู้ตายโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ หลังจากนั้นผู้ตายกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 ในคดีที่ผู้ตายฟ้องขอเพิกถอนการยกให้ที่ดินที่จังหวัดเชียงราย โดยตกลงกันว่าจำเลยจะไปจดทะเบียนให้ผู้ตายมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2321 ตำบลสันมะเค็ด อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ภายใน 15 วัน และผู้ตายกับจำเลยจะร่วมกันไปตรวจทรัพย์สินที่ผู้ตายเก็บไว้ในตู้นิรภัยของธนาคาร ครั้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยกับผู้ตายไปรับประทานอาหารกลางวันด้วยกันที่ร้านอาหารโออิชิซึ่งอยู่ที่ชั้นที่ 2 ของศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วจำเลยกับผู้ตายเดินออกจากร้านอาหารไปด้วยกัน หลังจากนั้นผู้ตายหายไป โดยไม่มีผู้ใดพบเห็นผู้ตายอีก ในวันเดียวกันนั้นจำเลยเปิดห้องพักเลขที่ 318 อาคารวิทยนิเวศน์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันรุ่งขึ้นเวลา 11 นาฬิกา จำเลยคืนห้องพักเลขที่ 318 ดังกล่าว และในวันเดียวกันนั้นเองจำเลยไปเปิดห้องพักเลขที่ 1631 โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ตามที่ได้จองไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 ครั้นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 เวลา 6 นาฬิกาเศษ จำเลยคืนห้องพักเลขที่ 1631 และในวันเดียวกันจำเลยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากรว่าผู้ตายไม่ไปปฏิบัติหน้าที่แพทย์เวรในวันที่ 21 ที่ผ่านมา จำเลยจึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจนครบาลพญาไท เรื่องผู้ตายหายไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากรได้รับจดหมาย 2 ฉบับ ประทับตราไปรษณีย์ส่งมาจากจังหวัดจันทบุรี ข้อความในจดหมายพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ฉบับแรกลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 มีลายมือชื่อผู้ตายถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอลาหยุดงาน 15 วัน ฉบับที่สองลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 ลงท้ายจดหมายว่า “ม๊า” แต่ไม่ลงลายมือชื่อโดยมีข้อความจากผู้ตายถึงบุตรทั้งสองว่าผู้ตายจะไปฝึกจิตใจนั่งสมาธิประมาณ 2 สัปดาห์ สำหรับลายมือชื่อผู้ตายในจดหมายฉบับแรกเจ้าพนักงานตำรวจส่งไปตรวจที่กองพิสูจน์หลักฐานเปรียบเทียบกับลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้ตาย ปรากฏว่าลายมือชื่อดังกล่าวมิใช่ลายมือชื่อของผู้ตาย วันที่ 11 มีนาคม 2544 โจทก์ที่ 1 ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตาย วันที่ 23 มีนาคม 2544 เจ้าพนักงานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจค้นอาคารวิทยนิเวศน์ พบคราบโลหิตบริเวณห้องน้ำในห้องพักเลขที่ 318 และพบชิ้นเนื้อลักษณะคล้ายเนื้อมนุษย์จำนวนหนึ่งในบ่อพักสิ่งปฏิกูล (บ่อเกรอะ) จึงยึดไปตรวจพิสูจน์ ซึ่งเจ้าพนักงานกองพิสูจน์หลักฐานรายงานผลการตรวจในวันที่ 24 มีนาคม 2544 ว่าคราบโลหิตและชิ้นเนื้อที่ตรวจพบมีดี เอ็น เอ แบบเดียวกับผู้ตาย เจ้าพนักงานตำรวจจึงดำเนินคดีแก่จำเลยเพิ่มเติมฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตาย จำเลยเข้ามอบตัวและให้การปฏิเสธทุกข้อหา ครั้นวันที่ 26 มีนาคม 2544 เจ้าพนักงานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจบ่อบำบัดน้ำเสียจากโรงแรมโซฟิเทล บ่อที่ 25 และ 26 ซึ่งเป็นบ่อพักสิ่งปฏิกูลที่ไหลมาจากห้องที่จำเลยเข้าพัก และสามารถตรวจพบชิ้นเนื้อลักษณะคล้ายเนื้อมนุษย์อีกจำนวนหนึ่ง จึงยึดไว้เพื่อให้กองพิสูจน์หลักฐานและสถาบันนิติเวชวิทยาตรวจพิสูจน์ สำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอม ในสำนวนหลังเป็นความผิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ปลอมและใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง แม้จำเลยจะปลอมหนังสือของผู้ตายส่งไปถึงนายแพทย์อำนวยการโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากรว่า ผู้ตายขอลาการปฏิบัติงานแล้วลงลายมือชื่อปลอมของผู้ตายในหนังสือดังกล่าว และจำเลยได้ปลอมจดหมายของผู้ตายส่งไปถึงนาย ช. กับนางสาว ก. บุตรชายและบุตรสาวของผู้ตายว่าผู้ตายต้องไปฝึกสมาธิ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารปลอมนั้นผู้ตายได้ทำขึ้นจริง ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็ตาม ในกรณีนี้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาผู้ตายก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ทั้งความผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวได้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายจะจัดการแทนผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) ด้วย ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์กับโจทก์ที่ 2 ในความผิดดังกล่าวในสำนวนหลังตามคำร้องของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำร้องดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และความผิดฐานซ่อนเร้น ทำลายศพผู้ตายเพื่อปิดบังการตายในสำนวนแรก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 ไม่อาจมีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 1 ไม่อุทธรณ์ในข้อนี้ ความผิดที่โจทก์ที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 ในความผิดดังกล่าว และศาลอุทธรณ์ยังมิได้แก้ไขในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนกระทงความผิดฐานซ่อนเร้น ทำลายศพผู้ตายเพื่อปิดบังการตายในสำนวนหลังและกระทงความผิดฐานปลอมเอกสารกับฐานใช้เอกสารปลอม ซึ่งต้องลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียวในสำนวนหลังนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยจำคุกกระทงละ 1 ปี ดังนั้น ความผิดทั้งสองกระทงดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 2 นำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดทั้งสองกระทงดังกล่าว เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้ตายปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองด้วยหรือไม่ …สรุปแล้วพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมาแม้ส่วนใหญ่จะเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณี แต่ก็มีความสอดคล้องต้องกัน และมีเหตุผลต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับ เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์อันเป็นข้อพิรุธหลายประการของจำเลยดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 ก่อนเที่ยงวัน จำเลยนัดหมายให้ผู้ตายไปพบและรับประทานอาหารร่วมกันที่ร้านอาหารโออิชิในศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ โดยจำเลยแอบอ้างหลอกลวงผู้ตายเรื่องนัดพบช่างชื่อสุธีที่จะไปซ่อมแซมบ้านพักผู้ตาย ระหว่างการรับประทานอาหารร่วมกัน จำเลยลอบนำยานอนหลับดอร์มิคุ่มที่สั่งซื้อไว้ก่อนหน้านี้ใส่ลงในอาหารหรือเครื่องดื่มให้ผู้ตายรับประทานหรือดื่มจนผู้ตายมีอาการสะลึมสะลือครองสติไม่ได้ หลังจากนั้นจำเลยได้พาผู้ตายไปยังอาคารวิทยนิเวศน์ที่จำเลยจัดเตรียมเปิดห้องพักรอไว้เพื่อทำการหน่วงเหนี่ยวให้ผู้ตายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย แล้วจำเลยลงมือฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่จำเลยวางแผนไว้ จากนั้นจำเลยได้ชำแหละแยกศพผู้ตายออกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ บางส่วนทิ้งลงในโถชักโครกของห้องพักในอาคารวิทยนิเวศน์ บางส่วนนำไปทิ้งในโถชักโครกของโรมแรมโซฟิเทลในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 เพื่อปิดบังการตายของผู้ตาย พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้ตายปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 ที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอมในสำนวนหลัง และยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับความผิดฐานซ่อนเร้น ทำลายศพผู้ตาย หรือปิดบังเหตุแห่งการตายในสำนวนแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์