แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตามหนังสือที่ ศธ 0806/1917 มีใจความสำคัญว่า กรมสามัญศึกษาได้แจ้งการสนับสนุนให้โรงเรียนรับบริจาคเงินเพื่อการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการบริจาคโดยมีวัตถุประสงค์หรือไม่มีวัตถุประสงค์ก็ตาม ทั้งนี้ การรับบริจาคนั้นต้องไม่มีเงื่อนไขในการรับนักเรียน และหนังสือที่ ศธ 0804/5175 กรมสามัญศึกษาซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการรับบริจาคเงินและสิ่งของในช่วงระยะเวลาที่โรงเรียนรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ระบุว่า การรับบริจาคเงินและสิ่งของควรดำเนินการโดยไม่นำมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อต่อรองในการรับนักเรียนเข้าเรียน ไม่ว่าจะเป็นการรับนักเรียนกรณีพิเศษ หรือรับนักเรียนในพื้นที่บริการอันเห็นได้ว่าการรับบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ควรดำเนินการ แต่ตามหนังสือที่ ศธ 0880/1523 ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดสุรินทร์มีหนังสือสั่งการไปยังโรงเรียนในสังกัดว่า ถ้าโรงเรียนได้รับเงินบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเข้าเรียนก็ขอให้โรงเรียนคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ปกครองทั้งหมด เงินที่มีผู้บริจาคโดยมีเงื่อนไขฝ่าฝืนต่อหนังสือซักซ้อมความเข้าใจของกรมสามัญศึกษา จึงเป็นเงินของทางราชการเพราะเหตุว่ายังมีหน้าที่ต้องคืนให้แก่ผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้บริจาค และแม้ทางปฏิบัติสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียน ส. เป็นผู้บริจาคเงินดังกล่าวโดยออกใบเสร็จรับเงินให้ในนามของตนเองแทนโรงเรียนก็ไม่ทำให้เงินดังกล่าวไม่เป็นเงินของทางราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลยเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการและกรมสามัญศึกษา การที่จำเลยรับเงินไว้ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งมีหน้าที่บริหารงานและกิจการการศึกษาของโรงเรียนตลอดจนบริหารงานและควบคุมดูแลด้านการเงินทุกประเภทของโรงเรียนให้เป็นไปโดยเรียบร้อย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในการรับและเก็บรักษาเงินบริจาคดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย การที่จำเลยมิได้นำเงินเก็บรักษาไว้ตามระเบียบจนกระทั่งมีการร้องเรียนและตรวจสอบพบการกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเงินบริจาคของโรงเรียน ส. ที่อยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลย ไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147
ป.วิ.อ. มาตรา 133 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายเรียกผู้เสียหายหรือบุคคลใดซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของเขาอาจเป็นประโยชน์แก่คดีให้มาตามเวลาและสถานที่ในหมาย ดังนั้น การสอบสวนจึงกระทำในสถานที่ใดๆ ก็ได้ ไม่จำต้องเป็นที่สถานีตำรวจ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 149, 157 ให้จำเลยคืนเงิน 212,000 บาท ให้แก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 149 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ จำคุก 9 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบ จำคุก 9 ปี รวมสองกระทง จำคุก 18 ปี จำเลยมีคุณความดีมาแต่ก่อน มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 150,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าของ คำขอและข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 128,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการครู สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ส. มีหน้าที่บริหารงานและกิจการการศึกษาของโรงเรียนตลอดจนบริหารงานและควบคุมดูแลด้านการเงินทุกประเภทของโรงเรียนให้เป็นไปโดยเรียบร้อย โรงเรียน ส. เปิดรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 4 ปีการศึกษา 2539
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามได้ความในข้อสำคัญว่า พยานโจทก์ทั้งสามไปติดต่อจำเลยเรื่องที่จะขอให้บุตรของแต่ละคนกลับเข้าเรียนแล้วต่างถูกจำเลยเรียกร้องเอาเงินเป็นการตอบแทนสอดคล้องกับคำเบิกความของนาย ฉ. ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งอาจารย์ 2 ระดับ 6 ทำหน้าที่ดูแลและบริหารงานฝ่ายปกครองและความประพฤติของนักเรียน และนาย อ. อาจารย์ 2 ระดับ 6 ทำหน้าที่นายทะเบียนพยานโจทก์ว่า เด็กชาย อ. เด็กชาย พ. และเด็กชาย ส. ไปยื่นคำร้องขอกลับเข้าเรียนแต่จำเลยไม่อนุญาต นาย ฉ. เบิกความด้วยว่า ผู้ปกครองของนักเรียนทั้งสามคนบอกว่าเหตุที่นักเรียนทั้งสามไม่ได้เข้าเรียนเพราะไม่ได้บริจาคเงินให้แก่โรงเรียนตามที่จำเลยต้องการ เมื่อพยานโจทก์ทั้งหมดนี้ไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีสาเหตุที่พยานจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย สำหรับจำเลยเองก็มิได้ปฏิเสธเรื่องที่พยานโจทก์ทั้งสามปากนี้เข้าพบจำเลยในเรื่องดังกล่าว แม้นาง ป . และนาง อ. เบิกความแตกต่างกันอยู่บ้างเรื่องใครเข้าพบจำเลยก่อนหลังและได้ไปพบจำเลยเมื่อใดดังที่จำเลยฎีกา แต่ก็หาเป็นเหตุที่จะทำให้ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้เรียกเงินจากพยานโจทก์เพื่ออนุมัติให้บุตรของพยานโจทก์ทั้งสามกลับเข้าเรียนต่อไม่ เพราะเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดที่เป็นพลความเท่านั้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เหตุที่จำเลยไม่รับเด็กชาย อ. เด็กชาย พ. และเด็กชาย ส. กลับเข้าเรียนก็เพราะผู้ปกครองของนักเรียนทั้งสามไม่สามารถแสดงเอกสารเกี่ยวกับการขอพักการเรียนให้จำเลยดูได้ เมื่อจำเลยไม่รับกลับเข้าเรียนจึงทำให้พยานโจทก์ทั้งสามโกรธแค้นเบิกความปรักปรำจำเลยนั้น ในข้อนี้ได้ความจากนาง ป. ว่า นาย ก. บุตรอีกคนหนึ่งได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ส่วนกรณีการอนุญาตให้กลับเข้าเรียน กรณีพักการเรียนก็ได้ความจากนาย ว. ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน ส. พยานจำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า จำเลยมีอำนาจรับนักเรียนกลับเข้าเรียนได้ดังที่พยานมีหนังสือถึงพนักงานสอบสวน จึงเห็นว่าหากจำเลยดำเนินการตามกฎระเบียบดังที่อ้าง ก็ไม่เห็นเหตุผลที่พยานโจทก์จะใส่ร้ายจำเลยโดยเฉพาะการที่นาง ป. ให้เด็กชาย อ. ไปเรียนหนังสือโรงเรียนอื่น ส่วนนาง อ. พาบุตรไปลาออกจากโรงเรียนและพยานสองปากนี้เพิ่งไปแจ้งความเรื่องที่เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุนานหลายเดือนหลังจากครูอาจารย์และนักเรียนโรงเรียน ส. ก่อเหตุประท้วงจำเลย ขอให้จำเลยชี้แจงเรื่องเงินบริจาคแล้ว สำหรับนาย ฮ. เมื่อบุตรไม่ได้เข้าเรียนก็พากลับบ้านโดยไม่ได้ดำเนินการอย่างใดเลย นอกจากไปให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนและชั้นศาล แสดงให้เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสามมิได้คิดที่จะเอาเรื่องกับจำเลยมาตั้งแต่ต้น ฎีกาของจำเลยที่ว่าถูกพยานโจทก์ทั้งสามปรักปรำจึงไม่มีน้ำหนัก เมื่อได้ความว่าขณะเกิดเหตุจำเลยปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการได้พิจารณาเรื่องที่นาง ป. นาง อ. และนาย ฮ. ยื่นคำร้องขอให้บุตรของตนกลับเข้าเรียนกรณีพักการเรียนตามอำนาจหน้าที่ การที่จำเลยเรียกร้องเอาเงินจากนาง ป. นาง อ. และนาย ฮ. เพื่อจะอนุมัติให้บุตรของพยานกลับเข้าเรียนย่อมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังเงินบริจาคของผู้ปกครองนักเรียนไปโดยทุจริตตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เหตุที่ผู้ปกครองเหล่านั้นเข้าพบจำเลยเพราะต้องการให้บุตรธิดาได้เข้าเรียนในปีการศึกษานั้น โดยแต่ละคนบริจาคเงินใส่ซองมอบให้จำเลยไว้ด้วย พยานบางคน เช่น นาง ป. และนาง อ. มอบเงินให้จำเลยตามที่จำเลยเรียกร้อง หรือกรณีนาย ส. ยืนยันว่ามอบเงินให้จำเลยโดยไม่ได้ใส่ซอง จึงไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงดังที่จำเลยอ้างและหากจำเลยไม่รู้ว่าในซองจดหมายเป็นสิ่งใด ก็ไม่มีเหตุผลที่จะนำซองจดหมายและเงินบริจาคไปมอบให้นาย ป. เพราะจำเลยเป็นผู้บังคับบัญชาของนาย ป. ทั้งเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติให้นักเรียนเหล่านั้นได้เข้าเรียน หาใช่นาย ป. หรือคณะกรรมการชุดใดของโรงเรียนไม่ สำหรับพยานโจทก์ที่เป็นผู้ปกครองซึ่งได้มอบเงินให้แก่จำเลยนี้ แม้โจทก์มิได้นำผู้ที่มีรายชื่อและตามบัญชีรายชื่อผู้ปกครอง นักเรียน ที่บริจาคเงินแล้วไม่ได้รับใบเสร็จรับเงินมาเป็นพยานเบิกความทั้งหมด แต่ได้ความว่านาย ป. มอบซองเอกสาร โดยทำบันทึกให้แก่นาย ม. ผู้ช่วยผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ส. มีนาย ท. ลงลายมือชื่อเป็นพยานร่วมกับข้าราชการอื่นอีก 7 คน ซึ่งอยู่ด้วยในขณะนั้น รวมทั้งนาย อ. ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดสุรินทร์ จากนั้นนาง ผ. เจ้าหน้าที่การเงิน ตรวจนับเงินและตรวจสอบกับรายชื่อในซองเอกสาร ซึ่งนาย ม. มีคำสั่งให้นำเงิน 110,000 บาท เข้าบัญชีของชมรมผู้ปกครองและครูโรงเรียน ส. และให้ออกใบเสร็จรับเงินให้ทั้ง 17 ราย เชื่อได้ว่าจำนวนเงินและรายชื่อตรงตามความเป็นจริง ส่วนรายชื่อผู้ปกครองบัญชีชื่อผู้ปกครอง นักเรียน ที่บริจาคเงินแล้วไม่ได้รับใบเสร็จรับเงิน พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยได้รับเงินบริจาคของผู้ปกครองนักเรียนแล้วมอบให้นาย ป. เก็บรักษาไว้ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2539 สำหรับเงินที่มีผู้บริจาคนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์เฉพาะกรณีของนาย ส. ไม่เพียงพอให้วินิจฉัยว่าจำเลยได้รับเงินจากนาย ส. 12,000 บาท ซึ่งโจทก์ไม่ฎีกา จึงยุติว่าจำเลยได้รับเงินบริจาคของผู้ปกครองจำนวน 128,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินและนำเงินบริจาคของผู้ปกครองฝากบัญชีธนาคารของโรงเรียน ส. ซึ่งเงินที่ผู้ปกครองบริจาคดังกล่าวนี้ แม้ตามเอกสารหนังสือที่ ศธ 0806/1917 มีใจความสำคัญว่า กรมสามัญศึกษาได้แจ้งการสนับสนุนให้โรงเรียนรับบริจาคเงินเพื่อการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการบริจาคโดยมีวัตถุประสงค์หรือไม่มีวัตถุประสงค์ก็ตาม ทั้งนี้ การรับบริจาคนั้นต้องไม่มีเงื่อนไขในการรับนักเรียน และหนังสือที่ ศธ 0804/5175 กรมสามัญศึกษาซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการรับบริจาคเงินและสิ่งของในช่วงระยะเวลาที่โรงเรียนรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ระบุว่า การรับบริจาคเงินและสิ่งของควรดำเนินการโดยไม่นำมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อต่อรองในการรับนักเรียนเข้าเรียน ไม่ว่าจะเป็นการรับนักเรียนกรณีพิเศษ หรือรับนักเรียนในพื้นที่บริการ อันเห็นได้ว่าการรับบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ควรดำเนินการ แต่ตามหนังสือที่ ศธ 0880/1523 ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดสุรินทร์มีหนังสือสั่งการไปยังโรงเรียนในสังกัดว่า ถ้าโรงเรียนได้รับเงินบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเข้าเรียนก็ขอให้โรงเรียนคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ปกครองทั้งหมด เงินที่มีผู้บริจาคโดยมีเงื่อนไขฝ่าฝืนต่อหนังสือซักซ้อมความเข้าใจของกรมสามัญศึกษา จึงเป็นเงินของทางราชการเพราะเหตุว่ายังมีหน้าที่ต้องคืนให้แก่ผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้บริจาคและแม้ทางปฏิบัติสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียน ส. เป็นผู้บริจาคเงินโดยออกใบเสร็จรับเงินให้ในนามของตนเองแทนโรงเรียนก็ไม่ทำให้เงินดังกล่าวไม่เป็นเงินของทางราชการซึ่งอยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลยเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการและกรมสามัญศึกษา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยรับเงินดังกล่าวไว้ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งมีหน้าที่บริหารงานและกิจการการศึกษาของโรงเรียนตลอดจนบริหารงานและควบคุมดูแลด้านการเงินทุกประเภทของโรงเรียนให้เป็นไปโดยเรียบร้อย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในการรับและเก็บรักษาเงินบริจาคจึงเป็นการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย การที่จำเลยมิได้นำเงินเก็บรักษาไว้ตามระเบียบจนกระทั่งมีการร้องเรียนและตรวจสอบพบการกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเงินบริจาคของโรงเรียน ส. อยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลยจำนวน 230,000 บาท ไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดตามฟ้องและต้องคืนเงินจำนวน 128,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าของ
ที่จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบปากคำพยานที่สถานีตำรวจ แต่มีการพิมพ์ข้อความให้ผู้อื่นนำไปให้พยานบางคนลงลายมือชื่อที่บ้าน พยานบางคนไม่ทราบข้อความหรือลงลายมือชื่อในกระดาษที่ไม่มีข้อความนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายเรียกผู้เสียหายหรือบุคคลใดซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของเขาอาจเป็นประโยชน์แก่คดีให้มาตามเวลาและสถานที่ในหมาย ดังนั้น การสอบสวนจึงกระทำในสถานที่ใดๆ ก็ได้ ไม่จำต้องเป็นที่สถานีตำรวจ ซึ่งได้ความจากที่พันตำรวจ อ. เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พันตำรวจ อ. ไม่เคยให้บุคคลอื่นนำบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนไปให้พยานลงลายมือชื่อโดยไม่ได้กระทำต่อหน้าพันตำรวจ อ. และเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า มีบางรายที่พันตำรวจ อ. ไปสอบสวนพยานที่บ้าน แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ว่าพยานได้ไปให้การหรือไม่ หรือพยานได้อ่านข้อความในบันทึกคำให้การก่อนลงลายมือชื่อหรือไม่ น่าจะเป็นเพียงความจำที่คลาดเคลื่อนของพยานแต่ละปากเท่านั้น จึงเห็นได้ว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนคดีนี้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3