คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2182/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกปัญหาคำสั่งศาลให้ปิดหมายเรียกไม่ชอบขึ้นว่ามาในศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาจากพยานหลักฐานในสำนวน จำเลยที่ 1 ทำสัญญาลาไปศึกษาและดูงานกับโจทก์ว่าต้องกลับมาปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 5 เท่า ของระยะเวลาที่ลามิฉะนั้นยอมชดใช้เงินคืน 5 เท่า ของเงินที่รับไป จำเลยที่ 1กลับมาปฏิบัติงานให้โจทก์ไม่ครบถ้วน โจทก์คิดค่าปรับตามสัญญาแล้วหักเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากโจทก์ส่วนจำนวนที่ยังไม่ครบค่าปรับได้ให้จำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้ไว้นั้นมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากโจทก์ให้ลาไปฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นโดยสัญญากับโจทก์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1เสร็จจากอบรมแล้ว จำเลยที่ 1 จะกลับมาปฏิบัติงานให้โจทก์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 เท่า ของระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ไปฝึกอบรม หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมกลับมาปฏิบัติงาน จำเลยที่ 1ยอมชดใช้เงินคืนโจทก์เป็น 5 เท่า ของทุนหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 รับจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ค้ำประกันต่อมาจำเลยทั้งสองผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 27,531.89 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 24,472.79 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1เคยทำงานกับโจทก์ และได้ไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยทุนส่วนตัวระเบียบกำหนดระยะเวลาในการกลับมาทำงานชดใช้เพียง 3 เท่าของระยะเวลาไปศึกษาและดูงานเท่านั้น จำเลยที่ 1 ได้กลับมาทำงานชดใช้โจทก์บางส่วนแล้ว ส่วนที่เหลือโจทก์หักบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ไปจนครบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนชำระเงินจำนวน 27,531.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 24,472.79 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 50,000บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่จำเลยที่ 2อ้างมาในฎีกาปัญหานั้นด้วยว่าคำสั่งศาลที่ให้ปิดหมายเรียกจำเลยที่ 2เป็นการไม่ชอบนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นว่ามาในศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหานี้ ศาลฎีกาต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบมาตรา 247 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้ไปศึกษาและดูงานโดยทุนส่วนตัว แต่ไปโดยทุนที่โจทก์เป็นผู้หามาให้ จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์ว่า ต้องกลับมาปฏิบัติงานกับโจทก์เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 เท่า ของระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต หากไม่ปฏิบัติตามยอมชดใช้เงินคืนเป็นจำนวน 5 เท่าของเงินที่ได้รับไป โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 กลับมาปฏิบัติงานกับโจทก์ไม่ครบกำหนดตามสัญญาได้ลาออกไป เมื่อหักเงินบำเหน็จที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับชำระค่าปรับตามสัญญาแล้วยังขาดอยู่จำนวน 24,472.79 บาทจำเลยที่ 1 ได้รับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1ทำสัญญากับโจทก์ไว้ว่า จะต้องกลับมาปฏิบัติงานกับโจทก์เป็นเวลา5 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 กลับมาปฏิบัติงานให้โจทก์ไม่ครบถ้วนโจทก์ก็มีสิทธิที่จะปรับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาได้ การที่โจทก์คิดค่าปรับตามสัญญาแล้วหักเงินที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิจะได้รับจากโจทก์ ส่วนจำนวนที่ยังไม่ครบค่าปรับได้ให้จำเลยที่ 1รับสภาพหนี้ไว้นั้นมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ในเมื่อจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ที่จะชำระให้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญา จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share