คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุตรบุญธรรมย่อมเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเท่านั้น ไม่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย แม้ผู้รับบุตรบุญธรรมถึงแก่ความตายการเป็นบุตรบุญธรรมก็ไม่ขาด
การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมหลังจากใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัวแล้วแม้สามีภริยาซึ่งแต่งงานกันมาก่อนตามกฎหมายลักษณะผัวเมียก็ไม่มีสิทธิจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส
การที่บุตรบุญธรรมยื่นขอรับบำเหน็จตกทอดของผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม คู่สมรสนั้นมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการรับบุตรบุญธรรมซึ่งไม่สมบูรณ์ได้ แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะมิได้บัญญัติให้ฟ้องเพิกถอนการรับบุตรบุญธรรมไว้โดยตรง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาขุนเจนจบทิศตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๒ขุนเจนจบทิศจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมเมื่อวันที่ ๗ มกราคม๒๕๐๓ โดยมีนางบุญธรรม ยงใจยุธ ซึ่งจดทะเบียนสมรสกับขุนเจนจบทิศในภายหลัง เป็นผู้ให้ความยินยอม โจทก์ได้ฟ้องนางบุญธรรมในกรณีดังกล่าว การจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมไม่มีผล เพราะไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และเป็นเล่ห์เหลี่ยมของนางบุญธรรมหวังจะให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของขุนเจนจบทิศ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้พิพากษาว่าทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเป็นโมฆะ
จำเลยต่อสู้ว่า ก่อนขุนเจนจบทิศรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมได้หย่าขาดจากโจทก์แล้ว ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์คู่สมรสของขุนเจนจบทิศจะให้หรือมิให้ความยินยอม ก็ไม่ทำให้การจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมเป็นโมฆะ การจดทะเบียนกระทำโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
คู่ความรับกันว่า
๑. ขุนเจนจบทิศรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมเมื่อ ๗ มกราคม ๒๕๐๓โดยนางบุญธรรมขณะอยู่กินเป็นภริยาสามีกับขุนเจนจบทิศโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เป็นผู้ให้ความยินยอม โจทก์มิได้รู้เห็นด้วย
๒. นางบุญธรรมจดทะเบียนสมรสกับขุนเจนจบทิศเมื่อ ๓ มีนาคม ๒๕๐๓ขุนเจนจบทิศตายเมื่อ ๓ มีนาคม ๒๕๐๕ ศาลฎีกาชี้ขาดแล้วว่าการสมรสระหว่างขุนเจนจบทิศกับนางบุญธรรมเป็นโมฆะ ส่วนโจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของขุนเจนจบทิศ
๓. เมื่อขุนเจนจบทิศตาย นางบุญธรรมในฐานะส่วนตัวได้ขอรับบำเหน็จตกทอดของขุนเจนจบทิศจากทางราชการ ส่วนจำเลยโดยนางบุญธรรมเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ได้ยื่นคำร้องขอรับบำเหน็จตกทอดของขุนเจนจบทิศด้วยเหมือนกัน
๔. โจทก์ไม่เคยบอกล้างนิติกรรมจดทะเบียนรับรองบุตรบุญธรรมรายนี้
โจทก์อ้างสำนวนคดีแพ่งแดงที่ ๒๓๗๖/๒๕๐๖ เป็นพยาน แล้วคู่ความไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขุนเจนจบทิศรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พิพากษาว่าการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมของขุนเจนจบทิศเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘๔, ๑๑๓
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขุนเจนจบทิศรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นภริยานั้น การมิได้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘๔ ประกอบกับพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. ๒๔๗๘ มาตรา ๒๒ จึงไม่สมบูรณ์ พิพากษายืน
จำเลยฎีกาหลายประการรวมทั้งเรื่องอำนาจฟ้องด้วย
ศาลฎีกาเห็นสมควรยกฎีกาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยก่อนจำเลยฎีกาว่าไม่มีกฎหมายให้ฟ้องเพิกถอนการรับบุตรบุญธรรมได้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ประการหนึ่ง และการที่ขุนเจนจบทิศรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ก็ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องอีกประการหนึ่ง
ศาลฎีกาเห็นว่า โดยนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๘๖ บุตรบุญธรรมย่อมเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเท่านั้น ฉะนั้นในกรณีที่ขุนเจนจบทิศจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม แม้ต่อมาขุนเจนจบทิศถึงแก่กรรม ความเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งจำเลยเคยมีมาก็ย่อมมีต่อไปตามเดิม การที่จำเลยแถลงรับว่าเมื่อขุนเจนจบทิศถึงแก่กรรมลงแล้ว จำเลย (โดยนางบุญธรรมเป็นผู้แทน) ได้ยื่นขอรับบำเหน็จตกทอดของขุนเจนจบทิศต่อทางราชการนั้น พอถือได้ว่าเป็นการดำเนินการตามเล่ห์เหลี่ยมของนางบุญธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของขุนเจนจบทิศตามที่กล่าวในคำฟ้องการกระทำของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะเป็นภริยาของขุนเจนจบทิศซึ่งมีสิทธิจะได้รับบำเหน็จตกทอดของขุนเจนจบทิศตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยโดยอาศัยเหตุดังกล่าว แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะมิได้บัญญัติให้ฟ้องเพิกถอนการรับบุตรบุญธรรมไว้โดยตรงก็ดี
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างโจทก์กับขุนเจนจบทิศเป็นไปตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ในการรับบุตรบุญธรรมจึงไม่ต้องรับความยินยอมจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๘๔ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม เพิ่งทำภายหลังที่ได้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ แล้ว โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ก็ดีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ก็ดี มิได้บัญญัติไว้ ณ ที่ใดเลยว่าในกรณีเช่นนี้ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยาตามที่มาตรา ๑๕๘๔ บัญญัติไว้ดังนั้นที่ขุนเจนจบทิศจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘๔ คือต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นภริยาก่อน แม้จะไม่ใช่ภริยาที่อยู่กินร่วมกัน ก็ไม่เป็นเหตุให้ขุนเจนจบทิศมีสิทธิจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมได้โดยลำพัง
พิพากษายืน

Share