แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น อันเป็นเอกสารมหาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และถูกต้อง เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 ที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันจะต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร
จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์หากโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยสัญญาดังกล่าวมีข้อความในข้อ 1 ระบุว่า ตามที่จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันต่อบุคคลหรือนิติบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะออกหนังสือค้ำประกันฉบับเดียวหรือหลายฉบับในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า… เป็นเงินรวมกันไม่เกิน 14,700,000 บาท ซึ่งถ้าหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ขอให้โจทก์ค้ำประกัน และโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้ …จำเลยที่ 5 ตกลงยินยอมชดใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ได้ชดใช้แทนไปนั้น คำว่า ในเวลานี้ในสัญญาดังกล่าว ย่อมหมายถึง การที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกัน เป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนี้ สัญญาที่จำเลยที่ 5 ทำไว้กับโจทก์ดังกล่าวจึงครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกันด้วย มิใช่จำเลยที่ 5 ยอมรับผิดเฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นนับแต่วันทำสัญญาดังกล่าวเท่านั้น แม้คำขอให้ออกหนังสือรับรองและค้ำประกันได้ระบุหลักประกันอื่นโดยมิได้ระบุถึงจำเลยที่ 5 ไว้ก็มิได้ทำให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย
การที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวโดยมีข้อความระบุไว้ในข้อ 8 ว่า เพื่อประกันการชำระหนี้ตามสัญญานี้ทั้งหมด จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับโจทก์ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 ไว้กับโจทก์ โดยระบุในสัญญาจำนองว่า เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 5 และหรือจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับผู้รับจำนอง ในวงเงิน 11,800,000 บาท ก็เป็นการที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองในต้นเงินไม่เกิน 14,700,000 บาท เท่านั้น มิใช่ต้องรับผิดในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองรวมกันแต่อย่างใด
สำหรับความรับผิดตามสัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้น เมื่อสัญญาจำนองฉบับนี้ระบุว่า จำนองเป็นประกันหนี้ที่ผู้จำนองและหรือจำเลยที่ 1 มีอยู่กับผู้รับจำนองทุกลักษณะในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า ทั้งนี้ให้รวมถึงหนี้ที่จะก่อให้เกิดขึ้นใหม่ทุกลักษณะเป็นจำนวน 14,000,000 บาท ดังนั้น คำว่า ประกันหนี้ในเวลานี้ จึงมีความหมายว่า เป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารโจทก์อยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนั้นสัญญาจำนองหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนี้จึงครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาจำนอง จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดในหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ก่อนทำสัญญาจำนองด้วย และจำเลยที่ 5 คงต้องรับผิดตามสัญญาจำนองที่จำกัดวงเงินไม่เกิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์เท่านั้น เพราะจำเลยที่ 5 จำนองที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 39209 โดยจำกัดวงเงินไม่เกิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์เท่านั้น แม้จะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า การกำหนดต้นเงินตามสัญญาจำนองไม่เป็นการตัดสิทธิผู้รับจำนองที่จะบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินตามสัญญาจำนองไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นั้นเป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอน หรือไม่มีจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกัน จึงฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนอง จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เฉพาะกรณีมีดอกเบี้ยหรือหนี้อุปกรณ์รวมกันเกินวงเงินจำนองเท่านั้น จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จำนองประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวงเงิน 14,000,000 บาท จึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจำนองดังกล่าว ในวงเงิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งห้าทำขึ้นให้ไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งห้าแต่ฝ่ายเดียวต่างลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เบิกเงินบัญชีและผู้ค้ำประกันเท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 118
การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลผู้ซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อการแสดงเจตนาส่งไปถึงภูมิลำเนาของจำเลยที่ 5 แล้ว แม้จะไม่มีผู้รับ ก็ถือว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 19,472,936.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 12,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินส่วนเกินวงเงิน 3,480,939.11 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันชำระหนี้ออกหนังสือค้ำประกัน 24,205,452.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ของต้นเงิน 16,691,994.63 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันชำระค่าเบี้ยประกันภัย 7,880.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากสารบบความและบริษัทบริหารสินทรัพยแม็กซ์ จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระหนี้เบิกเกินบัญชี 14,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไป นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่อัตราดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กันยายน 2542) ต้องไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี หักทอนด้วยเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2540 จำนวน 560,404.75 บาท เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2540 จำนวน 607,758.21 (ที่ถูก 607,798.21) บาท และจำนวน 1,088,488.68 บาท และให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี 15,249,348.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไปของต้นเงิน 14,000,000 บาท และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเบิกเงินส่วนที่เกินวงเงินของต้นเงิน 1,249,348.36 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องต้องไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามขอ หักทอนด้วยเงินชำระหนี้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2540 จำนวน 560,404.75 บาท วันที่ 31 ธันวาคม 2540 จำนวน 607,793.21 (ที่ถูก 607,798.21) บาท กับ 1,088,488.68 บาท และให้รับผิดชำระหนี้ออกหนังสือค้ำประกัน 14,700,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไป นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระหนี้ 1,805,328.32 บาท แก่โจทก์ พร้อมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไป นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่อัตราดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องต้องไม่เกินร้อยละ 25 ต่อปี ตามขอ และให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระค่าเบี้ยประกันภัย 7,880.91 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 รวมแล้วต้องไม่เกินความรับผิดของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 39209 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างและที่ดินโฉนดเลขที่ 447 ตำบลคลองตัน อำเภอคลองเตย กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 บังคับชำระหนี้โจทก์จนครบ กับให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 5 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 40,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่าปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองกับโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า สำหรับปัญหาว่าจำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ หรือไม่นั้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 5 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ตามที่จำเลยที่ 5 ให้การต่อสู้ไว้ และโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้ง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่าจำเลยที่ 5 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ให้ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกัน (สำหรับการขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน และสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันหรือไม่ พิเคราะห์ลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 ที่ระบุว่า จำเลยที่ 5 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 39209 กับโจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนอง และลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันในหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ที่ขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน และช่องผู้จำนอง ปรากฏว่าคล้ายคลึงกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 5 ในหนังสือ รวมทั้งคล้ายคลึงกับลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 5 ลงลายมือชื่อไว้ ในข้อนี้จำเลยที่ 5 ก็ยอมรับว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ 1 และหนังสือสัญญาจำนอง คล้ายคลึงกับลายมือชื่อจริง แต่อ้างว่าเป็นลายมือชื่อปลอม โดยทางนำสืบของจำเลยที่ 5 มีเพียงจำเลยที่ 5 เบิกความอ้างตนเองว่า มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 22 มีนาคม 2539 และมิได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมจำนองที่ดิน ฉบับลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 เพราะขณะนั้นจำเลยที่ 5 กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ตามหนังสือเดินทางพร้อมคำแปล แต่ปรากฏตามหนังสือเดินทางและตารางการเดินทางเข้า – ออกระหว่างประเทศไทยกับออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 5 เดินทางเข้ามาประเทศไทย และเดินทางออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2539 ดังนั้น ในวันที่ 22 มีนาคม 2539 อันเป็นวันทำสัญญาค้ำประกันหนี้ที่ขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน และหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน จำเลยที่ 5 จึงอยู่ที่ประเทศไทย มิใช่ประเทศออสเตรเลียดังที่กล่าวอ้าง ทั้งหนังสือสัญญาจำนอง เป็นเอกสารซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นอันเป็นเอกสารมหาชน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 ที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันจะต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร เมื่อจำเลยที่ 5 มิได้นำสืบพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือประกอบกับลายมือชื่อดังกล่าวคล้ายคลึงกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว อีกทั้งเมื่อจำเลยที่ 5 ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโททางกฎหมายทราบเรื่องที่มีการปลอมเอกสารดังที่กล่าวอ้างแล้วก็น่าจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 5 หาได้กระทำไม่ รวมทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันประกอบด้วยแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือและเพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ที่ขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน และสัญญาจำนองที่ดิน ดังนี้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 5 ไม่มีเหตุผลและน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ที่ขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน และสัญญาจำนอง กับโจทก์จริง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 5 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ที่ขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน และสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเพียงใดนั้น เห็นว่าการที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญายอมรับผิดชดใช้เงินไว้แก่โจทก์ หากโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีข้อความในข้อ 1 ระบุว่า ตามที่จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันต่อบุคคลหรือนิติบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะออกหนังสือค้ำประกันฉบับเดียวหรือหลายฉบับในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า… เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 14,700,000 บาท ซึ่งถ้าหากจำเลยที่ 1… ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ขอให้โจทก์ค้ำประกัน และโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้รายละเอียดปรากฏตามหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ได้ออกและหรือที่จะออกนั้น… จำเลยที่ 5 ตกลงยินยอมชดใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ได้ชดใช้เงินแทนนั้น เห็นว่า คำว่าในเวลานี้หมายถึงจำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันเป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนั้น สัญญาที่จำเลยที่ 5 ทำไว้กับโจทก์ย่อมครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกันหนี้ที่ขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันด้วย มิใช่ยอมรับผิดเฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นนับแต่วันทำสัญญาดังกล่าว ส่วนคำขอให้ออกหนังสือรับรองและค้ำประกันตาม และได้ระบุหลักประกันอื่นโดยมิได้ระบุถึงจำเลยที่ 5 ไว้ก็มิได้ทำให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญา ดังที่จำเลยที่ 5 อ้าง แต่การที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญา โดยมีข้อความระบุไว้ในข้อ 8 ว่า เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญานี้ทั้งหมด จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับโจทก์ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 ไว้กับโจทก์ โดยระบุในสัญญาจำนองว่าเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 5 และหรือจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับผู้รับจำนองในวงเงิน 11,800,000 บาท จึงเห็นได้ว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองดังกล่าวก็เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญา และสัญญาจำนองเป็นประกันในต้นเงินไม่เกิน 14,700,000 บาท เท่านั้น มิใช่ต้องรับผิดในวงเงินตามสัญญา และวงเงินตามสัญญาจำนองรวมกันแต่อย่างใด ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้
จำเลยที่ 5 รับผิดในหนี้ตามสัญญา และหนังสือสัญญาจำนอง เกินวงเงิน 14,700,000 บาท ที่จำเลยที่ 5 ต้องรับผิดจึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วนสำหรับความรับผิดตามสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันฉบับลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2539 ซึ่งเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 5 ฎีกาว่า สัญญาจำนองดังกล่าวทำขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคม 2539 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามหนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาท การจำนองจึงเป็นประกันแต่เฉพาะหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาท จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนวันที่ 17 กรกฎาคม 2539 นั้น เห็นว่า ตามสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันระบุว่าจำนองเป็นประกันหนี้ที่ผู้จำนองและหรือจำเลยที่ 1 มีอยู่กับผู้รับจำนองทุกลักษณะในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า ทั้งนี้ให้รวมถึงหนี้ที่จะก่อขึ้นใหม่ทุกลักษณะเป็นจำนวน 14,000,000 บาท นั้น คำว่าประกันหนี้ในเวลานี้หมายถึงเป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารอยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนั้น สัญญาจำนองจึงครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาจำนองด้วย จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดในหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่แล้วก่อนทำสัญญาจำนองด้วย แต่ข้อที่จำเลยที่ 5 ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 5 จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไม่เกิน 14,000,000 บาท จึงไม่จำต้องรับผิดในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่เกินกว่าวงเงินจำนองนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 5 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 39209 เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจำกัดวงเงินไม่เกิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์ จำเลยที่ 5 จึงมีความรับผิดตามสัญญาจำนองดังกล่าวในวงเงิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์ตามสัญญาจำนองเท่านั้น แม้จะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ว่า การกำหนดต้นเงินตามสัญญาจำนองไม่เป็นการตัดสิทธิผู้รับจำนองที่จะบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินตามสัญญาจำนองไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นั้น เป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอน หรือไม่มีจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกัน จึงฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนองจึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับได้ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เฉพาะกรณีมีดอกเบี้ยหรือหนี้อุปกรณ์รวมกันเกินวงเงินเท่านั้น จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 39209 เป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวงเงิน 14,000,000 บาท ตามสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน จึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจำนองดังกล่าวในวงเงิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น โดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดในหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ในวงเงินจำนอง 14,000,000 บาท ดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน เพราะเห็นว่าโจทก์มิได้นำสืบให้แจ้งชัดว่าหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเต็มวงเงินจำนองครั้งสุดท้ายก่อนสัญญาดังกล่าวเลิกกันเมื่อวันใด ซึ่งโจทก์ก็พอใจไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านมา ศาลฎีกาจึงเห็นควรให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในต้นเงินจำนอง 14,000,000 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะเสร็จแก่โจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทั้งนี้โดยให้คิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราเดียวกับที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ และให้นำเงินที่โจทก์นำบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 มาหักชำระหนี้ตามรายการบัญชีกระแสรายวัน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2540 จำนวน 560,404.75 บาท วันที่ 31 ธันวาคม 2540 จำนวน 607,798.21 บาท และจำนวน 1,088,488.68 บาท มาหักทอนบัญชีคำนวณยอดหนี้ที่จำเลยที่ 5 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีส่วนที่เกินวงเงินต้นเงิน 14,000,000 บาท แต่อย่างใด ดังนี้ ในส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 5 รับผิดในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีในส่วนที่เกินวงเงินที่จำเลยที่ 5 จำนองเป็นประกันหนี้ไว้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งไม่ปิดอากรแสตมป์ แต่มีการประทับตราว่าชำระอากรแล้ว จะรับฟังพยานหลักฐานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกัน เป็นเอกสารที่จำเลยทั้งห้าทำขึ้นให้ไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งห้าแต่ฝ่ายเดียวต่างลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เบิกเงินเกินบัญชีและผู้ค้ำประกันเท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 118 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเอกสารดังกล่าวซึ่งไม่ปิดอากรแสตมป์แต่มีการประทับตราว่าชำระอากรแล้วจะถือว่าได้มีการชำระค่าอากรแสตมป์แล้วหรือไม่ตามฎีกาของจำเลยที่ 5 อีกต่อไป สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองกล่าวถึงภาระหนี้ที่จำเลยที่ 5 ต้องรับผิดในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีกับหนี้ตามหนังสือรับรองการขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่ดินตามฟ้อง โดยระบุวงเงินค้ำประกันและวงเงินจำนองตามที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญาไว้กับโจทก์ แม้จะระบุเฉพาะการชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัทนครหลวง คอนกรีต จำกัด โดยมิได้กล่าวถึงบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด ก็มิใช่ข้อสำคัญเพราะหนี้จำนวนดังกล่าวที่ระบุในหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองก็เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 5 ต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์นั่นเอง และเมื่อก่อนฟ้องโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 5 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจ่าหน้าซองตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในฟ้องปรากฏว่าส่งไม่ได้ พนักงานไปรษณีย์ระบุข้อขัดข้องไว้ที่หน้าซองจดหมายว่าไม่มีผู้รับตามจ่าหน้าตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ 5 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยเอกสารดังกล่าวประทับข้อความว่า รอจ่ายเกินกำหนดและคืนผู้ฝาก เห็นว่า การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลผู้ซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อการแสดงเจตนาดังกล่าวส่งไปถึงภูมิลำเนาของจำเลยที่ 5 แล้ว แม้จะไม่มีผู้รับ ถือว่า การบอกกล่าวบังคับจำนองชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีพร้อมดอกเบี้ยอัตราสินเชื่อทั่วไป แต่ดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องไม่ให้เกินร้อยละ 19 ต่อปี นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องโดยแก้ไขคำฟ้องเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2543 ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 รับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินเบิกเงินเกินบัญชีในส่วนที่อยู่ในวงเงิน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 รับผิดชำระดอกเบี้ยซึ่งอยู่ในวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวโดยระบุให้ดอกเบี้ยหลังวันฟ้องไม่ให้เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเกินคำขอของโจทก์เป็นการไม่ชอบ นอกจากนี้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยทรัพย์จำนองที่โจทก์จ่ายแทนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2544 ซึ่งเป็นเวลาหลังวันฟ้องนั้น เห็นว่า ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองกำหนดว่าผู้จำนองตกลงยินยอมให้ผู้รับจำนองดำเนินการแจ้งทำประกันวินาศภัยทรัพย์จำนอง หรือเงื่อนไขข้อตกลงต่าง ๆ อันเกี่ยวกับการประกันวินาศภัยแทนผู้จำนอง หากผู้รับจำนองชำระค่าเบี้ยประกันภัยแทนผู้จำนองไปก่อน ผู้จำนองยินยอมชดใช้ค่าเบี้ยประกันที่จ่ายแทนไปคืนจนครบถ้วนและยินยอมให้คิดดอกเบี้ย เห็นได้ว่าการที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยหลังวันฟ้องดังกล่าว เป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 รับผิดในหนี้อนาคตและขณะฟ้องยังไม่มีหนี้ที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จะต้องรับผิด อีกทั้งการที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งห้าแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ดังนั้น หลังจากสัญญาเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยอีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 รับผิดในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสินเชื่อทั่วไปของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่อัตราดอกเบี้ยหลังวันฟ้องทุกช่วงระยะเวลาต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยหักทอนด้วยเงินที่โจทก์หักจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2540 จำนวน 560,404.75 บาท วันที่ 31 ธันวาคม 2540 จำนวน 607,798.21 บาท กับ 1,088,488.68 บาท และให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ออกหนังสือค้ำประกัน 14,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสินเชื่อทั่วไปของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไป แต่อัตราดอกเบี้ยหลังวันฟ้องทุกช่วงระยะเวลาต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 25 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากโจทก์บังคับจำนองยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ออกขายทอดตลาดตามจำนวนภาระหนี้ที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิด ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย 7,880.91 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ