แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างทนายความที่ระบุว่า จำเลยทั้งเก้าตกลงให้ค่าจ้างจำนวนร้อยละ 10 ของจำนวนเงินค่าเสียหาย ดอกเบี้ย และผลประโยชน์ที่ได้รับนอกเหนือจากต้นเงินที่ซื้อขายที่ดิน… มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทางการเงินโดยตรงในผลของคดีที่รับว่าความ จึงไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความถือว่าเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้จะปรากฏว่าตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 27 (3) (จ) และมาตรา 51 มิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2477 และ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2508 ก็มีผลเพียงว่าการทำสัญญาระหว่างทนายความและลูกความทำนองนี้ไม่เป็นการผิดมรรยาททนายความอันเป็นมูลให้ลงโทษตามมาตรา 52 เท่านั้น หามีผลทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งเก้าดังกล่าวซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนกลับมีความสมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ สัญญาว่าจ้างทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งเก้าจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 9 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 กับจำเลยที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งเก้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,259,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 กันยายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งเก้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า สัญญาว่าจ้างทนายความเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างทนายความดังกล่าวมีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทางการเงินโดยตรงในผลของคดีที่รับว่าความ จึงไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความ ถือว่าเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้จะปรากฏว่าตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 27 (3) (จ) และมาตรา 51 มิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2477 และพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2508 ก็มีผลเพียงว่าการทำสัญญาระหว่างทนายความและลูกความทำนองนี้ไม่เป็นการผิดมรรยาททนายความอันเป็นมูลให้ลงโทษตามมาตรา 52 เท่านั้น หามีผลทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งเก้าดังกล่าวซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนกลับมีความสมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ สัญญาว่าจ้างทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งเก้าจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าแม้สัญญาว่าจ้างทนายความเป็นโมฆะ แต่โจทก์ได้ดำเนินการฟ้องที่ศาลจังหวัดสมุทรสาครจนสำเร็จตามความประสงค์ของจำเลยทั้งเก้าแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามเนื้องานที่ได้ดำเนินการไปนั้น เห็นว่า เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยสำหรับฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่เป็นสาระอันควรได้รับวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ