คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเดิมจะมาจากการใช้สิทธิเรียกร้องในการติดตามเอาทรัพย์คืนจากจำเลยก็ตาม แต่เมื่อศาลอาญาพิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แล้ว การบังคับคดีก็จะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ.ว่าด้วยการบังคับคดี โจทก์จึงอ้างสิทธิเรียกร้องในการติดตามเอาทรัพย์คืน ซึ่งไม่มีอายุความมาใช้หาได้ไม่แต่เป็นกรณีที่โจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 การที่โจทก์ขอศาลออกหมายบังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาโดยมิได้มีการดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนจนถึงขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ พ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา จึงหมดสิทธิบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษา จึงต้องพิจารณาเอาความจริงตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 9 หรือมาตรา 10 ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 14 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาโจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในมูลหนี้เดียวกันอีก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ศาลอาญาได้พิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานรับของโจรและให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 80,000 บาทแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองทราบคำพิพากษาแล้วแต่ไม่ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ศาลอาญาได้ออกหมายบังคับคดี ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะยึดมาขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ได้ โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือทั้ง 2 ครั้งแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยและประวิงการชำระหนี้พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเข้าข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นนัดพิจารณา ต่อมามีคำสั่งว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์พอวินิจฉัยได้แล้ว งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ กรณีมีเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา 14 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้อง เดิมแม้จะมาจากการใช้สิทธิเรียกร้องในการติดตามเอาทรัพย์คืนจากจำเลยทั้งสองก็ตามแต่เมื่อศาลอาญาได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แล้วการบังคับคดีก็จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดี การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 บัญญัติให้ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวในเหตุที่โจทก์อ้างตามฟ้องหรือไม่ โจทก์จึงอ้างสิทธิเรียกร้องในการติดตามเอาทรัพย์คืนซึ่งไม่มีอายุความมาใช้ในคดีนี้หาได้ไม่ แต่เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าได้ดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 จึงมีปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยล้มละลายในมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2518 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานรับของโจรและให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 80,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยทราบคำพิพากษาแล้วแต่ไม่ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ศาลอาญาได้ออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 1 สิงหาคม 2527 ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะยึดมาขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 การบังคับคดีมิได้หมายความแต่เพียงว่าโจทก์ดำเนินการให้ศาลออกหมายบังคับคดีเท่านั้นแต่หมายถึงโจทก์ต้องไปแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์จำเลยทั้งสองมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามหมายบังคับคดีด้วยจึงจะสมบูรณ์ โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแล้วแต่อ้างว่าจำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะยึดมาขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ได้ จึงแสดงอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ไม่ได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองเมื่อปรากฏว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6628/2518 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2518 ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2527 การที่โจทก์ขอศาลออกหมายบังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาดังกล่าวโดยมิได้มีการดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองตามขั้นตอนให้ครบถ้วนจนถึงขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเวลาพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาจึงต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 ซึ่งต้องพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์หรือไม่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายในมูลหนี้เดียวกันนี้อีก ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share