คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3860/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทชน ก. พนักงานของโจทก์ได้รับบาดเจ็บต้องหยุดงานเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลรวม 17 วัน โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้จ่ายเงินเดือนให้ในระหว่างหยุดงาน 17 วัน เป็นเงิน8,257 บาท ก. เป็นพนักงานมีหน้าที่จะต้องประกอบการงานในอุตสาหกรรมให้แก่โจทก์เป็นประจำ จึงมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่โจทก์ การละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้ก. ไม่สามารถประกอบการงานให้โจทก์ได้ตามปกติเป็นเหตุให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการงานของ ก. โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในส่วนนี้ การไฟฟ้านครหลวงโจทก์ประกอบกิจการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อหากำไร และเป็นกิจการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้แรงงานและทุนมาก จึงเป็นอุตสาหกรรมตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 445

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังขนนางกรองแก้ว อ่อนไสว พนักงานของโจทก์ได้รับบาดเจ็บต้องหยุดงานพักรักษาตัวรวม 17 วัน โจทก์ได้จ่ายเงินเดือนให้นางกรองแก้วโดยมิได้ทำงานตอบแทนให้แก่โจทก์ คิดเป็นเงินค่าขาดประโยชน์แรงงานรวม 17 วัน เป็นเงิน 8,257 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยกลับเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 8,257 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับจากวันที่ 19 พฤษภาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเดือนให้นางกรองแก้วอยู่แล้วในฐานะนายจ้าง ค่าขาดประโยชน์แรงงานที่โจทก์เรียกร้องไม่ใช่ค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดโจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหาย โจทก์มิได้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่จะมาเรียกร้องค่าขาดประโยชน์แรงงาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินให้โจทก์ 8,257 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2530จนกว่าชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 หรือไม่ คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองหมื่นบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าวันเกิดเหตุจำเลยได้ขับรถยนต์โดยประมาทชนนางกรองแก้วพนักงานของโจทก์ได้รับบาดเจ็บต้องหยุดงานเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลรวม17 วัน โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้จ่ายเงินเดือนให้นางกรองแก้วในระหว่างหยุดงาน 17 วัน เป็นเงิน 8,257 บาท เห็นว่า นางกรองแก้วเป็นพนักงานมีหน้าที่จะต้องประกอบการงานให้แก่การไฟฟ้านครหลวงโจทก์เป็นประจำ นางกรองแก้วจึงมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่โจทก์ การละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้นางกรองแก้วไม่สามารถประกอบการงานให้โจทก์ได้ตามปกติเป็นเหตุให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการงานของนางกรองแก้ว โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายตามบทกฎหมายที่ได้กล่าวข้างต้น โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในส่วนนี้ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า บทบัญญัติในมาตรา 445 บัญญัติไว้เป็นกรณีที่ผู้ถูกทำละเมิดจะต้องทำการงานสำหรับอุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกเท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมตามความหมายที่กำหนดไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเพราะโจทก์มิใช่ผู้ผลิตหรือกระทำสิ่งของนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่าอุตสาหกรรมไว้ดังนี้ “น. การทำสิ่งของเพื่อให้เกิดผลประโยชน์เป็นกำไร, การประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องใช้แรงงานและทุนมาก”การไฟฟ้านครหลวงโจทก์นั้นประกอบกิจการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อหากำไร และเป็นกิจการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้แรงงานและทุนมาก จึงเห็นได้ว่าไม่ว่าจะพิจารณาตามความหมายแรกหรือในความหมายที่สองตามที่ได้อธิบายไว้ในพจนานุกรมกิจการของโจทก์ก็เป็นอุตสาหกรรมตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share