คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรกำนันปฏิบัติหน้าที่แทนกำนันเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ออกสำเนาทะเบียนบ้านว่าย้ายออกและมีหน้าที่ทำ กรอกข้อความ ลงในมรณบัตรตามอำนาจหน้าที่โดยลงชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องนายทะเบียน ผู้รับแจ้ง มรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่ จำเลยที่ 2 ทำขึ้น แม้ข้อความในมรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านไม่ตรงกับ ความจริง ก็ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา161 แต่เป็นความผิดตาม มาตรา 162
คำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวจะต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดี คำว่า ‘ศาล’ หมายถึงผู้พิพากษาที่มีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา ผู้พิพากษาจึงมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราว ตลอดจนการบังคับตามสัญญาประกันในกรณีที่ผิดสัญญา จึงเป็น เจ้าพนักงานตามกฎหมาย การที่จำเลยยื่นคำร้องเท็จว่า ส. ถึงแก่กรรมเป็นการร้องเพื่อให้พ้นจากความผิดตามสัญญาประกัน จึงเป็นการแจ้ง ความเท็จต่อเจ้าพนักงาน
ศาลลงโทษจำเลยฐานละเมิดอำนาจศาล เพราะประพฤติตน ไม่ เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นการลงโทษตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1),33 โดยไม่มีโจทก์ฟ้อง สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ในข้อหาฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นเจ้าพนักงานทำมรณบัตรปลอม โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 161 จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 3 ปี จำเลยที่ 1, 3, 4 คนละ 2 ปี และลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฐานใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 จำคุกคนละ 1 ปี ข้อหาอื่นยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จำคุกคนละ 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาสนับสนุนการทำเอกสารเท็จและใช้เอกสารปลอม โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 และนางเสี่ยง ไพงาม ร่วมกันทำสัญญาประกันตัวนายสิงห์ สอนนอก ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่) ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาชิงทรัพย์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 41/2520 นายสิงห์หลบหนีไม่ไปฟังคำพิพากษากำหนดนัดจำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรกำนันร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกมรณบัตรว่า นายสิงห์ถึงแก่กรรมมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2519 และออกสำเนาทะเบียนบ้านว่า นายสิงห์ย้ายออกจากบ้าน วันที่ 22 ธันวาคม 2519 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่) ว่า นายสิงห์ถึงแก่กรรมโดยส่งสำเนาทะเบียนบ้านและมรณบัตรพร้อมคำร้อง ศาลจังหวัดนครราชสีมา(อำเภอบัวใหญ่) ไต่สวนแล้วปรากฏว่า นายสิงห์ไม่ได้ถึงแก่กรรม จึงมีคำสั่งลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 6 เดือน จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด” ฯลฯ

“ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมนั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นสารวัตรกำนัน ปฏิบัติหน้าที่แทนกำนันซึ่งเป็นนายทะเบียน เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 มรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านเป็นเอกสารที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เอกสารปลอม โจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว และโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารกระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่มีหน้าที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ปลอมมรณบัตรโดยกรอกข้อความว่า นายสิงห์ สอนนอก ถึงแก่ความตาย และข้อความอื่น ๆ ลงชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องนายทะเบียนผู้รับแจ้ง และเติมข้อความลงในสำเนาทะเบียนบ้านว่าย้ายออก เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ออกสำเนาทะเบียนบ้านว่า ย้ายออก และมีหน้าที่ทำ กรอกข้อความลงในมรณบัตรตามอำนาจหน้าที่โดยลงชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องนายทะเบียนผู้รับแจ้งมรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้น แม้ข้อความในมรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านไม่ตรงกับความจริงก็ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอม เมื่อมรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านไม่ใช่เอกสารปลอมแล้วการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 นำไปยื่นต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่) ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 41/2520 จึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 และเมื่อฟังว่ามรณบัตรซึ่งจำเลยที่ 2 ทำขึ้นไม่ใช่เอกสารปลอมแล้ว ดังนี้จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ประกอบด้วยมาตรา 86 ซึ่งเหตุดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีจึงมีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วย

ปัญหาที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า ผู้พิพากษาที่พิจารณาคำร้องอยู่ในฐานะที่เป็นศาล ไม่ใช่เจ้าพนักงาน และเมื่อลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฐานละเมิดอำนาจศาลแล้วจะลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 อีกไม่ได้เพราะเป็นความผิดกรรมเดียวกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวจะต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 ซึ่งคำว่าศาล หมายความถึงผู้พิพากษาที่มีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญาตามมาตรา 2(1) ผู้พิพากษาจึงมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวตลอดจนการบังคับตามสัญญาประกันในกรณีที่ผิดสัญญา ฉะนั้น ผู้พิพากษาจึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวกับการปล่อยจำเลยชั่วคราว การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องเท็จว่า นายสิงห์ถึงแก่กรรม เป็นการร้องเพื่อให้พ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกัน จึงเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานส่วนการที่ศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่) มีคำสั่งลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 41/2520 นั้น เป็นการลงโทษเพราะประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1), 33 โดยไม่มีโจทก์ฟ้อง สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์คดีนี้ไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ได้ ฎีกาโจทก์จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยที่ 1 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 ประกอบด้วยมาตรา 86 จำคุก 2 ปีจำเลยที่ 2 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 จำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share