คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2919/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีฐานะเป็นกรม เป็นนิติบุคคลในสังกัดของกระทรวงจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ด้วย การที่จำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกระทรวงเจ้าสังกัดจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๑๓,๑๔๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินจำนวน ๑๑๓,๑๔๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๑) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ค – ๓๗๗๐ สมุทรปราการ จากบริษัทไทยผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า จำกัด จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงดังกล่าวมีฐานะเป็นกรม เป็นนิติบุคคลสังกัดจำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๔ ฌ – ๗๓๘๙ กรุงเทพมหานคร ของสำนักงานปลัดกระทรวงดังกล่าวซึ่งมีชื่อของจำเลยที่ ๒ ติดอยู่ข้างรถไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ แล่นไปตามถนนพระรามหก เป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ หรือไม่ ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม…” และมาตรา ๕ บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้” เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ด้วย การที่จำเลยที่ ๑ ขับรถคันเกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ในสังกัดของจำเลยที่ ๒ ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ด้วย จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นกระทรวงเจ้าสังกัดจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นด้วย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๒ ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๕,๐๐๐ บาท.

Share