คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 23 ย่อมเป็นที่สุด คู่ความจะฟ้องขอให้เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยได้เฉพาะเมื่อคำวินิจฉัยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น และหามีกฎหมายบังคับว่าการวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว รัฐมนตรีจะต้องอาศัยหลักเกณฑ์อย่างไร หรือหากได้วางหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยไว้แล้วจะต้องถือหลักเกณฑ์นั้นตลอดไปไม่ การที่รัฐมนตรีจะนำพฤติการณ์ใดบ้างมาเป็นเหตุสนับสนุนการวินิจฉัยสั่งการ ย่อมเป็นดุลพินิจของรัฐมนตรี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการสถานพยาบาล พนักงานของโจทก์ได้จัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้น ใช้ชื่อย่อว่า ส.ร.ป. ส.ร.ป.ได้แจ้งข้อเรียกร้องแก่โจทก์เจราจากันแล้วตกลงกันได้บางข้อ พนักงานประนอมข้อพิพาทจึงนำเสนอต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อวินิจฉัย คณะกรรมการ ฯ มีคำวินิจฉัยให้ยกข้อเรียกร้องข้ออื่น ส่วนข้อ ๓ ได้วินิจฉัยให้โจทก์จ่ายค่าเวรให้พนักงานทั่วไปที่ขึ้นเวรบ่ายและเวรดึก โจทก์และ ส.ร.ป. ต่างอุทธรณ์ต่อจำเลย จำเลยได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อเรียกร้องข้อ ๓ ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบแล้ว ให้ยืนตามคำวินิจฉัยนั้น โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อเรียกร้องข้อ ๓ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษากลับหรือแก้คำวินิจฉัยของจำเลยเสีย เป็นให้ยกข้อเรียกร้องข้อ ๓ ของ ส.ร.ป. ทั้งข้อ
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยวินิจฉัยให้โจทก์จ่ายค่าเวรให้พนักงานทั่วไปที่ขึ้นเวรบ่ายและเวรดึกนั้น จำเลยได้วินิจฉัยโดยชอบด้วยกฎหมายและหลักการรับฟังข้อเท็จจริงทุกประการแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน วินิจฉัยว่า การที่โจทก์และสหภาพแรงงานพนักงานโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียบอุทธรณ์คำวินิจฉัยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจำเลย จำเลยพิจารณาแล้วได้วินิจฉัยอุทธรณ์โดยเฉพาะเกี่ยวกับข้อเรียกร้องข้อ ๓ ว่า ให้โจทก์จ่ายค่าเวรแก่พนักงานทั่วไปที่ขึ้นเวรบ่าย เวรดึก เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในกรณีนี้ย่อมเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา ๒๓ วรรคสาม ซึ่งโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยได้เฉพาะเมื่อคำวินิจฉัยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น และหามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับว่าการวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีในกรณีตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา ๒๓ นั้น รัฐมนตรีจะต้องอาศัยหลักเกณฑ์อย่างไร หรือหากได้วางหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยไว้แล้วจะต้องถือหลักเกณฑ์นั้นตลอดไปไม่ การที่รัฐมนตรีจะนำพฤติการณ์ใดบ้างมาเป็นเหตุสนับสนุนการวินิจฉัยสั่งการ ย่อมเป็นดุลพินิจของรัฐมนตรี เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์มีความสามารถที่จะจ่ายค่าเวรให้แก่พนักงานได้จึงวินิจฉัยให้โจทก์จ่ายค่าเวรบ่าย เวรดึกแก่พนักงาน ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจอันเป็นข้อเท็จจริง หาถือว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ส่วนที่จำเลยพิจารณางบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนของโจทก์ประกอบกับพฤติการณ์ที่โจทก์รับในการเจรจาว่าจะยอมจ่ายค่าเวร เพียงแต่สหภาพแรงงานจะต้องไม่ยื่นข้อเรียกร้องเป็นเวลาสามปี แล้วฟังว่ากิจการของโจทก์ก้าวหน้าสามารถจ่ายค่าเวรแก่พนักงานได้นั้น ก็เป็นเรื่องพยานหลักฐานนั้นเพียงพอให้จำเลยเชื่อฟังเป็นยุติหรือไม่ ทั้งหามีกฎหมายห้ามรับฟังคำรับในการเจรจาไม่ การที่จำเลยใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวจึงเป็นเรื่องข้อเท็จจริง มิใช่คำวินิจฉัยของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share