คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7540/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยเป็นเจ้าอาวาสของโจทก์ร่วมและได้รับเงินเดือนประจำที่เรียกว่านิตยภัตจากเงินงบประมาณของรัฐ แต่ผู้ที่ได้รับเงินเดือนประจำที่จะถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งเจ้าอาวาสไม่อยู่ในความหมายดังกล่าว และในปัจจุบันวัดจัดตั้งขึ้นโดยวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งกำหนดให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทน แต่ก็มีอำนาจอย่างจำกัดตามมาตรา 37 เฉพาะในการบำรุงวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม และอื่นๆ อันเป็นกิจการของสงฆ์โดยเฉพาะ ส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมการศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการ วัดจึงหาใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ไม่ว่าในตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือในตำแหน่งอื่นใดก็ตาม จึงหาได้อยู่ในความหมายของคำจำกัดความว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ส่วน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 45 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา” ก็เป็นเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่พระภิกษุบางตำแหน่งเท่านั้น และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และฉบับปัจจุบันบัญญัติให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้น โดยบัญญัติถึงกระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นกรณีพิเศษโดยใช้วิธีการไต่สวนเท่านั้น บุคคลอื่นๆ คงใช้กระบวนการสอบสวนตามปกติตาม ป.วิ.อ. ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนมิได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง
มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) กำหนดให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือนับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น ข้อความในมาตรา 233 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่จำเลยเบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของจำเลยย่อมใช้ยันจำเลยนั้นได้ และศาลอาจรับฟังคำเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ แต่การที่จำเลยตอบคำถามก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จำเลยย่อมไม่อาจคาดหมายได้ว่าคำเบิกความของตนจะใช้รับฟังลงโทษตนเองได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีผลเป็นโทษแก่จำเลย จึงไม่อาจมีผลย้อนหลัง และถือไม่ได้ว่าโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว
กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในมาตรา 40 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ข้อ 5 บัญญัติให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 3,000 บาท ขึ้นไปให้เก็บรักษาโดยฝากกรมการศาสนา จังหวัด อำเภอ หรือธนาคาร หรือนิติบุคคลที่กรมการศาสนาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ให้ฝากในนามของวัด ดังนั้น การฝากเงินของวัดคือโจทก์ร่วมต้องฝากในนามของโจทก์ร่วมเท่านั้น หากมิได้ดำเนินการดังกล่าวโดยเจตนาก็เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 ได้ ส่วนการจัดการทรัพย์สินของวัดก็ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเป็นสำคัญ แต่การนำเงินค่าผาติกรรมซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วมอย่างหนึ่งไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์ร่วม โดยมิได้เบียดบังเป็นของตนเองหรือผู้อื่น การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เงินผิดไปจากมติมหาเถรสมาคม หรือเป็นการใช้เงินผิดระเบียบเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 91 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 6, 23, 31, 37, 40, 45
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา วัดบึงทองหลางโดยพระครูพิมลสรคุณผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 8 กระทง เป็นจำคุก 16 ปี 48 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า ควรลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ลดโทษและไม่รอการลงโทษหรือไม่ และมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ และจำเลยมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ กรณีเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเป็นข้อแรกก่อนว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเกิดขึ้นครั้งแรกโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการฟ้องคดีนี้ โดยมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 301 เฉพาะที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ บัญญัติไว้ใน (3) ว่า “ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต” และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 บัญญัติคำจำกัดความ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ” จากคำจำกัดความดังกล่าวสามารถแยกบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐออกเป็น 6 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ กลุ่มที่สอง ได้แก่ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ กลุ่มที่สาม ได้แก่ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลุ่มที่สี่ ได้แก่ เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ กลุ่มที่ห้า ได้แก่ กรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และกลุ่มที่หก ได้แก่ บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นเจ้าอาวาสของโจทก์ร่วม ได้รับเงินเดือนประจำที่เรียกว่านิตยภัตจากเงินงบประมาณของรัฐ และการจัดตั้งวัดขึ้นได้ต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาซึ่งเป็นการจัดตั้งในระบบราชการหรือกิจการอื่นของรัฐ เท่ากับฎีกาว่า จำเลยได้รับเงินเดือนประจำที่เรียกว่านิตยภัตจากเงินงบประมาณของรัฐประการหนึ่ง และการจะจัดตั้งวัดขึ้นได้ต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาซึ่งเป็นการจัดตั้งในระบบราชการหรือกิจการอื่นของรัฐอีกประการหนึ่ง นั้น เห็นว่า แม้ว่าจำเลยได้รับเงินเดือนประจำที่เรียกว่านิตยภัตจากเงินงบประมาณของรัฐ แต่ผู้ที่ได้รับเงินเดือนประจำที่จะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องอยู่ในกลุ่มที่หนึ่งคือ ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่จำเลยเป็นเจ้าอาวาส มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น จึงไม่อยู่ในความหมายของกลุ่มนี้ ส่วนจะอยู่ในความหมายของกลุ่มที่หกหรือไม่ นั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่ผ่านมาจนถึงฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บัญญัติถึงระบอบการปกครองของประเทศไทยว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ สำหรับอำนาจบริหารพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ส่วนการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งอยู่ในอำนาจบริหารนั้น ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 โดยมาตรา 4 บัญญัติว่า “ให้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ดังนี้ (1) ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง (2) ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค (3) ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น” ส่วนรายละเอียดการจัดระเบียบบริหารราชการของทั้งสามส่วนบัญญัติไว้ในมาตรา 7, 51 และ 69 และมาตราอื่นๆ ตามลำดับ แต่การจัดตั้งวัด แม้จะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการและจะต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งเป็นการจัดตั้งในระบบราชการหรือกิจการอื่นของรัฐ และในอดีตอาจมีการจัดตั้งโดยพระมหากษัตริย์หรือโดยพระบรมราชโองการ และในปัจจุบันการจะจัดตั้งวัดขึ้นได้ก็โดยวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งแม้ว่าจะกำหนดให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทน แต่ก็มีอำนาจอย่างจำกัดตามมาตรา 37 เฉพาะในการบำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของ มหาเถรสมาคม และอื่นๆ อันเป็นกิจการของสงฆ์โดยเฉพาะเท่านั้น ส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมการศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการ วัดจึงหาใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าวไม่ ดังนั้น พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ไม่ว่าในตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือในตำแหน่งอื่นใดก็ตาม จึงหาได้อยู่ในความหมายของคำจำกัดความว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งดังกล่าวไม่ ส่วนการที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ2505 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา” ก็เป็นเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่พระภิกษุบางตำแหน่งด้วยเท่านั้น ทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายใหม่ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และฉบับปัจจุบัน บัญญัติให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้น โดยให้มีอำนาจหน้าที่ประการหนึ่งคือ ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นการบัญญัติถึงกระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นกรณีพิเศษโดยใช้วิธีการไต่สวนเท่านั้น ส่วนบุคคลอื่นๆ นอกจากนี้คงใช้กระบวนการสอบสวนตามปกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลย โดยมิได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการเป็นการชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ เห็นว่า ในชั้นพิจารณาคดีอาญาของศาล เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ เป็นหน้าที่ของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานให้ศาลรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น ศาลจึงจะลงโทษจำเลยได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 ประกอบมาตรา 227 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า กรณีควรลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ลดโทษและไม่รอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสโจทก์ร่วมมานานกว่า 30 ปี นำเงินที่ได้รับบริจาคทั้งในนามส่วนตัวและในนามของโจทก์ร่วมไปพัฒนาบริเวณวัดโจทก์ร่วมจนมีความเจริญ มีสิ่งปลูกสร้างเป็นถาวรวัตถุเพื่อกิจการของสงฆ์และบุคคลที่ไปใช้บริการของวัดโดยสม่ำเสมอ ตลอดจนเป็นผู้ส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา การศึกษาของเด็กและเยาวชน และกิจการด้านการกุศลในทางสังคมตลอดมา นับว่าเป็นผู้ประกอบคุณงามความดีมาก่อน ทั้งจำเลยได้นำเงินค่าผาติกรรมที่นำไปซื้อกองทุนหุ้นต่างๆ กลับคืนมาฝากธนาคารในนามของโจทก์ร่วมตามเดิม ส่วนที่ขาดก็นำเงินที่ได้รับจากการบริจาคไปคืนให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วนแล้ว ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษแต่ละกระทงดังกล่าว และรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย เป็นการเหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สรุปแล้ว จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการเงินค่าผาติกรรมซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วม เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เฉพาะตามฟ้องข้อ 2 (ก), 2 (ข) และ 2 (ช) รวม 3 กระทง และเมื่อปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว กรณีไม่จำเป็นต้องปรับบทตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำคุกกระทงละ 5 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 7 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดน 2 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share