แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จะได้ความว่าการเช่านาพิพาทไม่มีสัญญาเช่าเป็นหนังสือต่อกัน แต่การที่เจ้าของนายินยอมให้ใช้นาเพื่อทำนาโดยได้รับค่าเช่านา ก็ถือได้ว่าเป็นการเช่านาตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มาตรา 4 เมื่อผู้เสียหายเช่านาพิพาทจากจำเลยผู้เสียหายจึงเป็นผู้ครอบครองนาพิพาท การที่จำเลยเข้าไปไถหว่านข้าวในนาพิพาท จึงเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปทำนาไถหว่านในที่นาแปลงที่ผู้เสียหายมีสิทธิครอบครองเพราะการเช่า และได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.๒๕๑๗ อันเป็นการรบกวนการครอบครองของผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ ลดโทษหนึ่งในสามเพราะคำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคงจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๓๐๐ บาท ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายเช่านาพิพาทจากจำเลยมาก่อนเกิดเหตุ ๓-๔ ปี ครั้น พ.ศ.๒๕๑๙ จำเลยได้เข้าไถหว่านข้าวในนาพิพาท ผู้เสียหายจึงไปร้องเรียนต่อนายยงยุทธปลัดอำเภอหนองโตน ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการควบคุมการเช่านา ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.๒๕๑๗ นายยงยุทธไกล่เกลี่ยแล้วตกลงกันไม่ได้ ผู้เสียหายจึงแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมิได้ฟังข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายเช่านาจำเลยทำ เพียงแต่ฟังว่านาพิพาทเป็นของจำเลยและให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นน้องภริยาจำเลยทำอยู่ ๓-๔ ปี เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าผู้เสียหายเช่านาพิพาทจากจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยคลาดเคลื่อนดังที่จำเลยฎีกา เพราะในชั้นสอบสวนจำเลยก็ได้ให้การไว้อย่างชัดแจ้งว่าผู้เสียหายเช่านาพิพาทจากจำเลยโดยคิดค่าเช่าเป็นข้าวแบ่งครึ่งกัน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๗ แม้จะได้ความว่าการเช่านาพิพาทจะไม่มีสัญญาเช่าต่อกันก็ดี แต่การที่เจ้าของนายินยอมให้ใช้นาเพื่อทำนาโดยได้รับค่าเช่านา ก็ถือว่าเป็นการเช่านาตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๔ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายเช่านาพิพาทจากจำเลย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้ครอบครองนาพิพาท การที่จำเลยเข้าไปไถหว่านข้าวในนาพิพาทจึงเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองของผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ฯลฯ
พิพากษายืน