คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยขับรถยนต์บรรทุกขนาดหนักด้วย ความประมาทแซง ขึ้นหน้ารถยนต์บรรทุกที่จอดอยู่ข้างหน้าล้ำ เข้าไปในเขตช่องทาง เดินรถด้าน ตรงข้าม ทั้งที่มีรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ กำลังแล่นสวนทางมา เป็น เหตุให้เกิดภัยพิบัติแก่ชีวิต ผู้โดยสารและทรัพย์สิน นอกจาก จะถือ เป็นพฤติการณ์แห่งการกระทำที่ร้ายแรงแล้ว การที่จำเลย กลับขับรถหลบ หนีไปโดย ไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บและ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ ยังแสดงออก ซึ่ง การกระทำที่ไร้ มนุษยธรรม ด้วย ส่วนที่จำเลยได้ รีบติดต่อ นายจ้างให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นที่พอใจแก่ผู้เสียหายทุกคน ก็เป็นเพียงความประสงค์เพื่อยุติข้อพิพาททางแพ่งของฝ่ายนายจ้าง หาใช่เป็นการกระทำด้วยความสำนึกในความรับผิดชอบของจำเลยไม่ จึงไม่มีเหตุผลพอ ที่จะให้รอการลงโทษ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,300, 390, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 39, 43,46, 47, 78, 151, 157, 160 วรรคสอง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 300, 390, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 39, 43, 46, 47, 78, 151, 157, 160 วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย บาดเจ็บสาหัสและบาดเจ็บเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย อันเป็นบทหนักจำคุก 4 ปี และปรับ 10,000 บาทข้อหาหลบหนีไม่แจ้งเหตุหรือให้ความช่วยเหลือปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี และปรับ 12,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 3 ปีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์ขอไม่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยและไม่ปรับนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษตามที่จำเลยฎีกาขอมาหรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยขับรถยนต์บรรทุกขนาดหนักด้วยความประมาทแซงขึ้นหน้ารถยนต์บรรทุกคันที่จอดอยู่ข้างหน้าในเขตช่องเดินรถทางเดียวกับที่ขับมาล้ำเข้าไปในเขตช่องเดินรถด้านตรงข้าม ทั้งที่รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ คันประสบเหตุกำลังแล่นสวนทางมาขณะนั้นอันเป็นเหตุให้เกิดภัยพิบัติแก่ชีวิตของผู้โดยสารและทรัพย์สิน…นอกจากจะถือเป็นพฤติการณ์แห่งการกระทำที่ร้ายแรงแล้ว การที่จำเลยกลับขับรถหลบหนีไปโดยไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บ และไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงในทันทีหลังเกิดเหตุ ยังแสดงออกซึ่งการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมด้วยเช่นกัน ที่จำเลยอ้างเหตุที่ต้องหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุเพราะความตกใจและกลัวทหารพรานที่โดยสารมาในรถคันที่ประสบเหตุ ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอให้รับฟัง ทั้งยังแสดงว่าจำเลยตระหนักดีถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำที่ร้ายแรงของตน ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าได้รีบติดต่อนายจ้างให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นที่พอใจแก่ผู้เสียหายทุกคนก็เห็นว่าเป็นความประสงค์เพื่อยุติข้อพิพาททางแพ่งของฝ่ายนายจ้าง หาใช่เป็นการกระทำด้วยความสำนึกในความรับผิดชอบของจำเลยไม่ ส่วนความเดือดร้อนทางครอบครัวของจำเลยนับเป็นผลจากการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งจำเลยย่อมต้องตระหนักอยู่แล้ว…”
พิพากษายืน.

Share