คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3197/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มดำเนินการโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกา กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงบางซื่อ – แขวงลาดยาวฯ และต่อมาที่ดินพิพาทของโจทก์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2526 แต่ในเมื่อจำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืน จนกระทั่งต่อมามีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ออกมาใช้บังคับ ดังนั้น การดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาทซึ่งยังค้างคาไม่เสร็จสิ้นอยู่นั้น หากมีการดำเนินการอย่างใดที่จะต้องกระทำต่อไปในเรื่องนี้ก็จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 36 วรรคสอง การพิจารณาว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเท่าใดจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 23 สิงหาคม 2533 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงบางซื่อ – แขวงลาดยาวฯ ออกมาแล้วกว่า 16 ปี นับว่าล่าช้าเกินสมควรไปมากจนผิดปกติ ต้องถือว่าเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่เร่งดำเนินการเวนคืนให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควร ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่สมควรจะนำราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งผ่านพ้นไปกว่า 16 ปี มาคำนึงศาลอุทธรณ์เปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ จากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องในปี 2517 มาเป็นปี 2531 ก่อนวันที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินประมาณ 2 ปีนั้น ชอบตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 56827 และ 56828 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ซึ่งบางส่วนเนื้อที่ 19 ตารางวาละ 95ตารางวา ตามลำดับ ที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกได้รับเงินค่าทดแทนตารางวาละ 10,000 บาท เป็นเงิน 1,140,000 บาท ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่จนถึงวันฟ้องคดีนี้รัฐมนตรีฯ ยังไม่มีคำวินิจฉัย ที่ดินของโจทก์มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดขณะฟ้องคดีตารางวาละ 150,000 บาท แต่โจทก์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพียงตารางวาละ 80,000 บาท คือ เพิ่มขึ้นตารางวาละ 70,000 บาท เป็นเงิน 7,980,000 บาท นอกจากนี้เมื่อมีการเวนคืนแล้ว ทำให้โจทก์เป็นเหตุให้ต้องรื้อถอนสถานีบริการน้ำมันทั้งหมด โจทก์ขอคิดเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ด้วยจำนวน 600,000 บาท และดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินร้อยละ 11 ต่อปี ในเงินค่าทดแทนที่ดินขอเพิ่มนับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2517 คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 15,361,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 23,941,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ในต้นเงิน 7,980,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ กำหนดค่าทดแทนโดยพิจารณาหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 แล้ว โจทก์ได้ที่ดินที่ถูกเวนคืนมาหลังจากพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก… พ.ศ. 2526 ใช้บังคับ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมัน และค่าเสียหายจากการเสื่อมค่าของอุปกรณ์สถานีบริการน้ำมัน การเวนคืนมิใช่การกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินหรือหากเรียกได้ก็ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 7,980,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ11 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2534 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 56827 และ 56828 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ติดถนนวิภาวดีรังสิต มีเนื้อที่ 201 ตารางวา และ 212 ตารางวาที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวถูกเวนคืนบางส่วนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกเป็นเนื้อที่ 19 ตารางวา และ 95 ตารางวา ตามลำดับ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 10,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น แต่รัฐมนตรีฯ มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนด โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 80,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ของศาลอุทธรณ์ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์เปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาที่ดินของโจทก์จากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องในปี 2517 เป็นปี 2531 อันเป็นปีที่เริ่มดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมายกำหนดให้คำนึงถึงราคาตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา เห็นว่าแม้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในคดีนี้จะเริ่มดำเนินการโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงบางซื่อ – แขวงลาดยาว พ.ศ. 2517 และต่อมาที่ดินพิพาทของโจทก์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก… พ.ศ. 2526 แต่ในเมื่อจำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืนจนกระทั่งต่อมามีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ออกมาใช้บังคับ ดังนั้น การดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาทซึ่งยังค้างคาไม่เสร็จสิ้นอยู่นั้นหากมีการดำเนินการอย่างใดที่จะต้องกระทำต่อไปในเรื่องนี้ก็จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ทั้งนี้ตามมาตรา 36 วรรคสอง การพิจารณาว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเท่าใด จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติให้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบกับสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ซึ่งตามที่บัญญัติไว้รวม 5 ข้อดังกล่าวนั้น สำหรับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ นั้น ทำให้เห็นเจตนารมณ์ของการที่บัญญัติไว้เช่นนี้ได้ว่า ต้องการให้ทราบราคาที่ซื้อขายกันอยู่จริง ๆ ในท้องตลาดในเวลาที่ใกล้เคียงที่สุดกับเวลาที่เริ่มดำเนินการเพื่อเวนคืน แล้วนำราคาดังกล่าวมาเป็นหลักในการพิจารณาเพราะราคาของที่ดินย่อมจะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามสภาวะของท้องตลาดตลอดเวลา การนำราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ อันเป็นการเริ่มต้นในการดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาคำนึงเป็นหลักประการแรกย่อมจะทำให้สามารถกำหนดเงินค่าทดแทนได้โดยเหมาะสมและบังเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สำหรับกรณีของโจทก์นี้ จำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 23 สิงหาคม 2533 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องออกมาแล้วกว่า 16 ปี นับว่าล่าช้าเกินสมควรไปมากจนผิดปกติ ต้องถือว่าเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่เร่งดำเนินการเวนคืนให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควร ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เห็นได้อยู่ในตัวว่าไม่สมควรจะนำราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งผ่านพ้นไปกว่า 16 ปี มาคำนึง เพราะราคาที่ดินย่อมจะสูงขึ้นมากจากเวลาที่ผ่านไปกว่า 16 ปีดังกล่าว หากยังคงกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ถูกเวนคืนโดยถือตามราคาในอดีตเมื่อกว่า 16 ปีก่อน ย่อมจะต่ำมาก ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ จากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องในปี 2517 มาเป็นปี 2531 ก่อนวันที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 23 สิงหาคม 2533 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินประมาณ 2 ปีนั้นชอบตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่งที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม นับว่าเหมาะสมแล้ว ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2457/2544 ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดนครไทยสมุทรธุรกิจ กับพวก โจทก์ กระทรวงคมนาคม กับพวก จำเลย แต่ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 80,000 บาท นั้น เห็นว่า สูงเกินไป แม้เมื่อวันที่ 25 เมษายน2533 จะมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 56791 ถึง 56794 และ 98586แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ดินพิพาทในราคาตารางวาละ105,000 บาท และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2535 มีการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 56772ถึง 56774 และ 56778 ถึง 56780 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพ-มหานคร ซึ่งอยู่ในซอยอนุสรณ์ 1 ห่างจากถนนวิภาวดีรังสิตประมาณ 500 เมตร ซึ่งที่ตั้งของที่ดินดังกล่าวด้อยกว่าที่ดินพิพาทมากในราคาเมื่อหักสิ่งปลูกสร้างออกแล้วตารางวาละเกือบ 60,000 บาท อันพอนำมาเปรียบเทียบให้ฟังได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินพิพาทตามที่เป็นอยู่ในปี 2531 น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงตารางวาละ 80,000 บาท แต่เมื่อคำนึงถึงว่าโจทก์ได้ที่ดินพิพาทนี้มาในปี 2527 โดยซื้อมาเพียงตารางวาละ 21,000 บาท กับหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยเปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์จากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯมาเป็นปี 2531 แล้ว เห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมคือตารางวาละ 70,000 บาท ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงถูกเวนคืนไป114 ตารางวา โจทก์มีสิทธิได้เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสิ้น 7,980,000 บาท แต่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินไปแล้ว 1,140,000 บาท จึงมีสิทธิได้รับเพิ่มขึ้นอีก 6,840,000 บาทฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 6,840,000 บาท แก่โจทก์และให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกานอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share