คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4133/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยสัญญากู้ระบุว่า ดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่โจทก์นำสืบว่า ขั้นแรกตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือร้อยละ 3 ต่อเดือนจำนวนเงินที่จำเลยชำระมาแล้วเป็นการชำระดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย จำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ทั้งยังค้างชำระดอกเบี้ยอีกสามหมื่นบาทเศษ จึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้เต็มจำนวนกับดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญานับตั้งแต่วันกู้ ดังนี้เป็นการนำสืบเรื่องรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่ฟ้อง เมื่อได้ความว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ทั้งการรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ
การที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิเรียกคืนจึงจะให้นำไปหักดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือหักจากยอดต้นเงินไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี กำหนดชำระคืนภายในวันที่กำหนด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยแก่โจทก์ เป็นดอกเบี้ยค้างชำระถึงวันฟ้องเป็นเงิน 13,750 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 63,750 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 50,000 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 40,000 บาทโจทก์คิดดอกเบี้ยล่วงหน้า 1 ปี เป็นเงิน 10,000 บาท รวมเป็นเงินในสัญญา 50,000 บาทจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่าง 1 ปีแรก หลังครบกำหนดสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 ยังชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์อีก คงค้างชำระหนี้เพียง 50 บาท

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้โจทก์เต็มจำนวนต้นเงินและเงินที่ชำระให้โจทก์จำนวน 35,800 บาท เป็นค่าดอกเบี้ยเกินอัตรากฎหมายกำหนดตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามฟ้องอีกและจำเลยก็จะเรียกคืนมิได้เช่นกัน พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 50,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยที่ 1 ชำระไม่ครบหรือไม่ชำระเลยก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระ

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมจำเลยที่ 1ส่งเงินชำระหนี้ให้โจทก์รวม 42,950 บาท ซึ่งคิดเป็นต้นเงิน 17,180 บาท และคิดเป็นดอกเบี้ย 25,770 บาท โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนตามที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงชำระหนี้แก่โจทก์ เฉพาะดอกเบี้ยนั้น จำเลยที่ 1จะเรียกคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ส่วนต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์เมื่อนำไปหักจากต้นเงินจำนวน 50,000 บาทที่จำเลยที่ 1กู้ยืมไป คงเหลือต้นเงินจำนวน 32,820 บาท พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน32,820 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ หากำจเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ไม่ครบหรือไม่ชำระเลยให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนให้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์นำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำฟ้องและสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้อง เป็นการนำสืบนอกฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ศาลควรยกฟ้องโจทก์หรือไม่ รับฟังพยานดังกล่าวข้อนี้ได้ความว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยปรากฏตามหนังสือสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 ระบุว่าดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่โจทก์นำสืบว่าชั้นแรกตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนต่อมาลดลงเหลือร้อยละ 3 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำนวนที่ 1 ชำระมาแล้วเป็นการชำระดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ทั้งยังค้างชำระดอกเบี้ยอีกสามหมื่นบาทเศษ โจทก์จึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้เต็มจำนวนกับดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญานับตั้งแต่วันกู้ เห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์เป็นเรื่องรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่ฟ้อง เมื่อได้ความว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ทั้งการรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ หาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ไม่ ศาลล่างทั้งสองฟังว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจำนวน 25,770 บาท ควรนำมาหักดอกเบี้ยที่คิดตามกฎหมายร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีส่วนดอกเบี้ยที่เหลืออยูอีกก็นำไปหักยอดต้นเงินจำนวน 32,820 บาท ไม่ควรนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 มาบังคับจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 สมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ไปนั้น ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จำเลยที่ 1ไม่มีสิทธิเรียกคืน จึงจะให้นำไปหักดอกเบี้ยตามกฎหมายและที่เหลือนำไปหักยอดต้นเงินดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา หาได้ไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share