แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ในการตกลงกันตามบันทึกข้อตกลง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 และ ว. กับ อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมด้วยกับข้อตกลงในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวและลงลายมือชื่อไว้ด้วย และบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีข้อความระบุว่า เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ยอมรับในคำฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1 กระทำการแทนและมีผลผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ และบันทึกข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 โดยไม่มีตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ประทับไว้ดังเช่นในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันการทำบันทึกข้อตกลงของจำเลยที่ 2 ในภายหลัง จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่ได้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น บันทึกข้อตกลงจึงไม่มีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ร่วมตกลงด้วย แต่ผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 2 ให้ต้องปฏิบัติตามในฐานะผู้ถือหุ้นเท่านั้น
แม้ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมตกลงและลงชื่อในบันทึกข้อตกลงก็ตาม แต่การที่ผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 จะทำข้อตกลงให้มีผลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้เพียงใด หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าผู้ถือหุ้นนั้นมีสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติให้ไว้หรือไม่ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1173 และ 1176 กำหนดให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเพียงการเรียกประชุมและเข้าร่วมประชุมใหญ่กับลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ ซึ่งเป็นอำนาจในการเข้าครอบงำการบริหารจัดการบริษัท แต่หามีสิทธิเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการในบริษัทโดยตรงไม่
บันทึกข้อตกลงข้อ 9 มีข้อตกลงในการเลิกบันทึกข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิจัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกบันทึกข้อตกลงโดยบอกกล่าวให้คู่สัญญาอีกฝ่ายที่ผิดสัญญารับทราบเป็นหนังสือ และหากภายใน 10 วัน หลังจากที่ได้รับคำบอกกล่าว คู่สัญญาดังกล่าวยังคงเพิกเฉยให้ถือว่า บันทึกข้อตกลงเป็นอันเลิกกันทันทีเมื่อสิ้นระยะเวลา 10 วัน โดยให้ถือว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์เป็นอันเลิกกันทันทีด้วยนั้น ข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวจึงมีผลต่อการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาวในการผลิตผลิตภัณฑ์อันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 และอาจทำให้การดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ต้องสิ้นสุดลงเนื่องจากไม่สามารถใช้สิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวได้ บันทึกข้อตกลงข้อ 4 และข้อ 9 จึงเป็นการตกลงในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยตรงซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 และ ว. กับ อ. ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจที่ตกลงกับโจทก์เช่นนั้นได้ และการออกเสียงลงคะแนนเป็นสิทธิเฉพาะตัวของ ว. และ อ. ผู้ถือหุ้นเท่านั้น บริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจบังคับให้บุคคลดังกล่าวลงมติให้จำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งตามบันทึกข้อตกลงข้อ 4 ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่า จำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 แต่กลับมีข้อความอันเป็นลักษณะเป็นการบังคับให้จำเลยที่ 2 ลาออก โดยระบุว่า ผู้ถือหุ้นเดิมและโจทก์ตกลงใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในบริษัทจำเลยที่ 1 และดำเนินการใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้จำเลยที่ 2 ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และไม่มีข้อตกลงใด ๆ ในบันทึกดังกล่าวว่าจำเลยที่ 2 จะลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจทำบันทึกข้อตกลงให้มีผลโดยตรงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ การทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ข้อตกลงข้อ 4 ในบันทึกข้อตกลง ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุแห่งการผิดข้อตกลงดังกล่าวมาเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโน – ฮาวแก่จำเลยที่ 1 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2552 อันเป็นวันที่สัญญาเลิกกันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องวันที่ 14 กันยายน 2552 เป็นเงินจำนวน 189,045.11 บาท รวมเป็นเงินค่าใช้สิทธิและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องจำนวน 5,665,351.96 บาท และโจทก์ให้จำเลยทั้งสองหยุดการผลิต จำหน่ายผลิตภัณฑ์ หยุดใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทันทีและส่งมอบผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองหรือตัวแทนจำหน่ายของจำเลยทั้งสองให้แก่โจทก์ทันทีรวมทั้งส่งมอบเอกสารหรือข้อมูลและวัสดุใด ๆ ที่มีข้อมูลเทคโนโลยีที่โจทก์ได้ให้ไว้หรืออยู่ภายใต้ชื่อ เอ็มโร (EMRO) ให้แก่โจทก์ทันทีและห้ามจำเลยทั้งสองใช้ข้อมูลของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว กับโจทก์ โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตเนื่องจากประสงค์จะยึดบริษัทจำเลยที่ 1 บันทึกข้อตกลงข้อ 4 มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเพราะขณะทำบันทึกโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ และการลาออกจากกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นสิทธิของจำเลยที่ 2 ข้อตกลงจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิอ้างข้อตกลงนี้มายกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว และบันทึกข้อตกลงไม่มีผลบังคับแก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากไม่มีตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ประทับไว้ ทั้งการบอกกล่าวจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ปรากฏว่าผู้บอกกล่าวได้รับมอบอำนาจจากโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้แก่โจทก์จำนวนเพียง 73,665.91 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยได้จำนวน 2,578,306.85 บาท เท่านั้น และได้ชำระค่าใช้สิทธิให้แก่โจทก์ตลอดมาทุกเดือนจนถึงเดือนตุลาคม 2552 ซึ่งโจทก์ยอมรับเงินค่าใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 โดยไม่โต้แย้ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว และจำเลยที่ 2 เป็นเพียงกรรมการผู้จัดการบริษัท จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่น จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 49.75 และเป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และมีนายวิชอบกับนางอัจฉราถือหุ้นรวมกันร้อยละ 50.25 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว ที่โจทก์พัฒนาเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิผล โดยโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ผลิตผลิตภัณฑ์ภายใต้ความช่วยเหลือทางด้านวิทยาการจากโจทก์เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้า ที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวกที่ 32 รายการสินค้า ตามทะเบียนเลขที่ ค 122172 และได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวกที่ 31 รายการสินค้า ตามทะเบียนเลขที่ ค 113991 ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 6 ของราคาผลิตภัณฑ์ที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายได้แต่ละเดือนทุกวันสิ้นเดือน ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว ของ “อีเอ็ม” และการให้บริการช่วยเหลือ (EM Know – How License and Assistance Agreement) พร้อมคำแปล สัญญามีกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญา และเมื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยินยอม สัญญาจะได้รับการต่ออายุออกไปอีก 2 ปี โดยอัตโนมัติ ต่อมาจำเลยที่ 2 กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ทำข้อตกลงว่าด้วยการรับสภาพหนี้ รับว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว แก่นายคัตซึยุกิ ประธานผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทองค์การเพื่อการศึกษาค้นคว้า อีเอ็ม จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 220,866.91 ดอลลาร์สหรัฐ หรือจำนวน 8,000,000 บาทเศษ โดยนายคัตซึยุกิ ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้บางส่วนและพักหนี้ไว้บางส่วน และเพื่อเป็นการค้ำประกันจำเลยที่ 2 ตกลงมอบสิทธิการลงมติในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจลงนามกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำนวนร้อยละ 10 ให้นายคัตซึยุกิ ใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น แต่ไม่รวมถึงสิทธิในการลงมติเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารและลงมติพิเศษตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทยกำหนดไว้ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้ต่อบริษัทวีเอเคคอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งมีนายวิชอบและนางอัจฉราเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำนวน 11,500,000 บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ต่อมาจำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์อีกฉบับหนึ่ง รับว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาวแก่โจทก์นับถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 จำนวน 5,476,306.85 บาท และมีข้อตกลงในข้อ 2.2 ถึง 2.4 เรื่องการจองซื้อหุ้นสรุปใจความได้ว่า จำเลยที่ 1 และผู้ถือหุ้นเดิมตกลงจะออกหุ้นและจำหน่ายให้แก่โจทก์และหรือบุคคลที่โจทก์มอบหมายตกลงที่จะจองซื้อและชำระเงินค่าหุ้นที่จองซื้อเพื่อที่จะถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 จำนวนรวมทั้งสิ้นร้อยละ 51.20 ของหุ้นทั้งหมด โดยโจทก์ตกลงชำระค่าหุ้นที่จองซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวนทั้งสิ้น 2,099,000 บาท ณ วันที่ดำเนินการเสร็จ และจำเลยที่ 1 ตกลงจะนำเงินค่าหุ้นที่ได้รับชำระจำนวน 2,099,000 บาท ชำระหนี้ค่าสิทธิการใช้สิทธิในวิทยาหรือโนว์ – ฮาว ที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ทันที และในข้อ 4 มีข้อตกลงว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมกับโจทก์จะใช้สิทธิออกเสียงเพื่อให้จำเลยที่ 2 ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อให้โจทก์หรือบุคคลที่โจทก์มอบหมายเข้าปรับปรุงโครงสร้างบริษัทจำเลยที่ 1 โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและจำเลยที่ 1 ตกลงจะมอบหนังสือรับรองของบริษัทซึ่งแสดงการแต่งตั้งและกำหนดอำนาจกรรมการบริษัทที่รับการเสนอจากโจทก์ให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำบันทึก โดยข้อตกลงข้อ 4 นี้ ให้มีผลบังคับทันที ส่วนข้อตกลงข้ออื่นให้มีผลบังคับเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้บริษัทวีเอเคคอนสตรัคชั่น จำกัด ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1.2 และในบันทึกข้อตกลงมีการกำหนดเงื่อนไขในการบอกเลิกข้อตกลงไว้ในข้อ 9 (2) ว่าในกรณีที่โจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิจัดการบริษัทตามที่กำหนดในข้อ 4 คู่สัญญามีสิทธิที่จะบอกเลิกบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ได้โดยการบอกกล่าวให้คู่สัญญาทราบเป็นหนังสือพร้อมระบุเหตุผลการผิดนัด และหากภายในกำหนด 10 วัน หลังจากที่ได้รับคำบอกกล่าว คู่สัญญายังคงเพิกเฉยให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงเลิกกันทันที โดยให้ถือว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว เป็นอันเลิกกันทันทีด้วย ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อ 4 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามข้อตกลง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยและยังคงชำระค่าใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว ที่ค้างชำระและที่ต้องชำระเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า บันทึกข้อตกลงข้อ 4 ที่กำหนดให้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและโจทก์ตกลงที่จะใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในบริษัทจำเลยที่ 1 และดำเนินการให้จำเลยที่ 2 ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และไม่ตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์นำสืบได้ว่าในการตกลงกันตามบันทึกข้อตกลงนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 และนายวิชอบกับนางอัจฉรา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทจำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมด้วยกับข้อตกลงในบันทึกข้อตกลงและลงลายมือชื่อไว้ด้วย และบันทึกข้อตกลงมีข้อความระบุว่า เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ยอมรับในคำฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 กระทำการแทนและมีผลผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ และข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบมาว่า บันทึกข้อตกลงนั้น มีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 โดยไม่มีตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ประทับไว้ดังเช่นในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันการทำบันทึกข้อตกลงของจำเลยที่ 2 ในภายหลังแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบมาจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่ได้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น บันทึกข้อตกลงจึงไม่มีผลผูกพันไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ร่วมตกลงด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 1 ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ด้วยจึงฟังไม่ขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมตกลงกับโจทก์ในบันทึกข้อตกลง ดังนั้น บันทึกข้อตกลงข้อ 4 ที่ว่าจำเลยที่ 2 และผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงจะใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในบริษัทจำเลยที่ 1 และดำเนินการใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้จำเลยที่ 2 ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 จึงมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 2 ให้ต้องปฏิบัติตามในฐานะผู้ถือหุ้นเท่านั้น หามีผลผูกพันไปถึงบริษัทจำเลยที่ 1 ให้ต้องปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงด้วยไม่ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ผิดข้อตกลงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร โจทก์ก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาเป็นการส่วนตัว แต่หามีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ร่วมตกลงในบันทึกข้อตกลงด้วยไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมตกลงกับโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงด้วยจึงฟังไม่ขึ้น
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่า บันทึกข้อตกลงมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทจำเลยที่ 1 ร่วมลงชื่อด้วยจึงมีผลผูกพันให้จำเลยทั้งสองต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในบันทึกด้วยนั้น แม้โจทก์นำสืบได้ว่าผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมตกลงและลงชื่อในบันทึกข้อตกลงจริง แต่การที่ผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 จะทำข้อตกลงให้มีผลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้เพียงใดหรือไม่นั้น ก็จำต้องพิจารณาว่าผู้ถือหุ้นนั้นมีสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติให้ไว้หรือไม่ด้วย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1173 และมาตรา 1176 กำหนดให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเพียงการเรียกประชุมและเข้าร่วมประชุมกับลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ซึ่งเป็นอำนาจในการเข้าครอบงำการบริหารจัดการบริษัทเหล่านั้น แต่หามีสิทธิเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการในบริษัทโดยตรงไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในบันทึกข้อตกลงข้อ 9 มีข้อตกลงในเรื่องการเลิกบันทึกข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิจัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกบันทึกข้อตกลงโดยบอกกล่าวให้คู่สัญญาอีกฝ่ายที่ผิดสัญญาทราบเป็นหนังสือและหากภายใน 10 วัน หลังจากที่ได้รับคำบอกกล่าว คู่สัญญายังคงเพิกเฉยให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงเป็นอันเลิกกันทันทีเมื่อสิ้นระยะเวลา 10 วัน โดยให้ถือว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์เป็นอันเลิกกันทันทีด้วย ข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวจึงมีผลโดยตรงต่อการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว ในการผลิตผลิตภัณฑ์อันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 และอาจทำให้การดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ต้องสิ้นสุดลงเนื่องจากไม่สามารถใช้สิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวได้ เนื่องจากการผิดบันทึกข้อตกลงข้อ 4 นั้น ได้มีการระบุไว้ในข้อ 9 ด้วยว่า ให้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงไปพร้อมบันทึกข้อตกลงด้วย บันทึกข้อตกลงข้อ 4 และข้อ 9 จึงเป็นการตกลงกันในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยตรง ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 และนายวิชอบกับนางอัจฉราซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจที่จะตกลงกับโจทก์เช่นนั้นได้ เนื่องจากในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 นั้น ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการได้ต้องเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับการตั้งโดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1144 และมาตรา 1151 บัญญัติไว้ ส่วนผู้ถือหุ้นมีเพียงอำนาจในการควบคุมการดำเนินงานของบริษัท โดยที่ประชุมใหญ่ซึ่งผู้ถือหุ้นเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมวิสามัญและออกเสียงลงคะแนนในการประชุมใหญ่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1173 และมาตรา 1176 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นต้น และการออกเสียงลงคะแนนในบริษัทจำเลยที่ 1 ก็เป็นสิทธิเฉพาะตัวของนายวิชอบและนางอัจฉราผู้ถือหุ้นเท่านั้น บริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจบังคับให้บุคคลดังกล่าวลงมติให้จำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังนำสืบด้วยว่า นายวิชอบและนางอัจฉราได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความศาลจังหวัดสระบุรี ในคดีหมายเลขดำที่ 683/2549 ระหว่างบริษัทวีเอเคคอนสตรัคชั่น จำกัด กับพวก โจทก์กับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ว่า หากนางอัจฉราและนายวิชอบ ได้ร่วมกันใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากในบริษัทจำเลยที่ 1 เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารงานของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ว่ากรณีใด เว้นแต่การปฏิบัติตามคำขอของกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ในการบริหารงานของบริษัทจำเลยที่ 1 หรือร่วมกันใช้สิทธิถอดถอนหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 บริษัทวีเอเค คอนสตรัคชั่น จำกัด ยอมให้หนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความจำนวน 11,500,000 บาท เป็นอันระงับสิ้นไป ฯ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายวิชอบและนางอัจฉราจะใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ลงมติถอดถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนของจำเลยที่ 1 เนื่องจากการกระทำดังกล่าวทำให้หนี้จำนวน 11,500,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้บริษัทวีเอเคคอนสตรัคชั่น จำกัด ระงับสิ้นไปและทำให้นางอัจฉราและนายวิชอบซึ่งเป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทต้องรับผิดชอบต่อบริษัทวีเอเคคอนสตรัคชั่น จำกัด เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ามีวิธีการอย่างไรที่จะให้ข้อตกลงข้อ 4 ในบันทึกข้อตกลงบังคับได้ทันที โดยไม่ทำให้นายวิชอบและนางอัจฉราได้รับความเสียหายจากการผิดข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวอย่างไร หรือจำเลยที่ 2 จะยินยอมลาออกจากการเป็นกรรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 เอง ซึ่งตามบันทึกข้อตกลงข้อ 4 ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 แต่กลับมีข้อความอันเป็นลักษณะเป็นการบังคับให้จำเลยที่ 2 ลาออก โดยระบุว่าผู้ถือหุ้นเดิมและโจทก์ตกลงจะใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในบริษัทจำเลยที่ 1 และดำเนินการใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้จำเลยที่ 2 ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และไม่มีข้อตกลงใด ๆ ในบันทึกข้อตกลงว่าจำเลยที่ 2 จะลาออกจากกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 2 ผิดข้อตกลงโดยไม่ยอมลาออกเองจึงฟังไม่ขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมตกลงกับโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงและจำเลยที่ 2 กับนายวิชอบและนางอัจฉราซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจทำบันทึกข้อตกลงใด ให้มีผลโดยตรงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ดังวินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว การทำบันทึกข้อตกลงจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายข้อตกลงข้อ 4 ในบันทึกข้อตกลงย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุแห่งการผิดข้อตกลงมาเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ – ฮาว แก่จำเลยที่ 1 ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 73,665.91 ดอลลาร์สหรัฐ หากจำเลยจะชำระเป็นเงินไทย ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 กันยายน 2552 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง