แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ใบตราส่งที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศจัดทำขึ้นนอกราชอาณาจักรไม่อยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118
ใบตราส่งระบุว่าจำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้ที่ต้องได้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า โดยมิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำการในฐานะตัวแทนของ ย. ในใบตราส่งนั้นด้วย เมื่อมีเงื่อนไขการขนส่งแบบ ซีวาย/ซีวาย ข้อความดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องแจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบและส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และเมื่อตู้สินค้าถูกขนส่งถึงท่าปลายทาง โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งจะต้องส่งมอบตู้สินค้าทั้งตู้แก่จำเลยในฐานะผู้รับตราส่งเพื่อนำไปเปิดที่โกดังของตนเอง ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่รับสินค้า พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยยอมรับเอาหน้าที่ที่จะต้องรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ตามข้อกำหนดของใบตราส่งโดยเงื่อนไขของ ซีวาย ตัวหลังแล้ว เมื่อโจทก์ขนส่งสินค้ามาส่งมอบให้จำเลยและจำเลยยอมรับหน้าที่ตามใบตราส่งแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่รับตู้สินค้าและส่งคืนตู้สินค้าดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ทำหน้าที่ของตนกลับมีหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งและไม่ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อส่งมอบตู้สินค้าแก่ ย. และนำตู้สินค้ามาคืนโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้
ย่อยาว
บรรดาคำฟ้อง คำให้การ รวมทั้งรายการต่าง ๆ ที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษานี้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า และคนโดยสาร ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โจทก์มอบอำนาจให้นายยุรนันท์ เป็นผู้ดำเนินคดีนี้ จำเลยตั้งขึ้นจากการควบรวมบริษัทคินเทซึ เวิลด์ เอ็กซเปรส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัททีเคเค โลจิสติคส์ จำกัด เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2554 บริษัทโนห์ฮิ โลจิสติคส์ จำกัด ผู้ส่งสินค้าว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าประเภทเครื่องจักรบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ของโจทก์จำนวน 9 ตู้ หมายเลข ทีจีเอชยู 7771840 เอชเจซียู 1223104 ทีอาร์แอลยู 8037791 บีเอ็มโอยู 4102907 เอชเจซียู 1649907 เอชเจซียู 1326421 เอสอีเอ็นยู 5053336 ทีอาร์แอลยู 7158973 และเอชเจซียู 8222687 จากท่าเรือโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง ณ ไอซีดี ลาดกระบัง การขนส่งเป็นการขนส่งทางทะเลที่มีเงื่อนไขแบบ ซีวาย/ซีวาย (CY/CY) โจทก์ได้ขนส่งโดยเรือ “JAKARTA BRIDGE” วีโอวาย.0039 ดับเบิลยู ตามใบตราส่งหมายเลข เอชเจเอสซีทีวายโอ 153059เอ็ม00 เมื่อประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2554 บริษัทโนห์ฮิ โลจิสติคส์ จำกัด ผู้ส่งสินค้าว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าประเภทเครื่องจักรบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ของโจทก์จำนวน 12 ตู้ หมายเลข เอชเจซียู 1242260 ทีอาร์แอลยู 6818964 ซีเอเอ็กซ์ยู 8050362 เอชเจซียู 1061240 ทีอาร์แอลยู 78148413 ทีอาร์แอลยู 8086564 เอฟซีไอยู 8725800 ทีอาร์แอลยู 6988390 เอสอีเอ็นยู 5036180 ทีอาร์แอลยู 7146247 ทีซีเอ็นยู 9675778 และเอชเจซียู 1409167 จากท่าเรือโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งมอบให้แก่จำเลย ผู้รับตราส่ง ณ ไอซีดี ลาดกระบัง การขนส่งเป็นการขนส่งทางทะเล เงื่อนไขการขนส่ง ซีวาย/ซีวาย โจทก์ทำการขนส่งโดยเรือ “JAKARTA BRIDGE” วีโอวาย.0040 ดับเบิลยู ตามใบตราส่งหมายเลข เอชเจเอสซีทีวายโอ 153073เอ็ม00 เรือ “JAKARTA BRIDGE” วีโอวาย.0039 ดับเบิลยู เดินทางถึงท่าเรือแหลมฉบัง ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 9 ตู้ ลงจากเรือแล้วทำการขนส่งต่อไปยังไอซีดี ลาดกระบัง อันเป็นสถานที่ปลายทางตามใบตราส่งและได้ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 9 ตู้ ให้แก่ไอซีดี ลาดกระบัง ในวันเดียวกัน ส่วนเรือ “JAKARTA BRIDGE” วีโอวาย.0040 ดับเบิลยู เดินทางถึงท่าเรือแหลมฉบัง ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสิบสองตู้ลงจากเรือ แล้วทำการขนส่งต่อไปยังไอซีดี ลาดกระบัง อันเป็นสถานที่ปลายทางตามใบตราส่งและได้ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสิบสองตู้ให้แก่ไอซีดี ลาดกระบัง ในวันเดียวกัน โจทก์ได้แจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทั้งสองเที่ยวขนส่ง และจำเลยก็รับทราบการมาถึงของสินค้าแล้ว จำเลยมีหนังสือมายังโจทก์เพื่อขอเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยเป็นบริษัทยูนิเวอร์แซล เอ็นเนอยี่ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ใบสั่งปล่อยสินค้า (Delivery Order) ที่ออกให้แก่จำเลยจึงระบุชื่อบริษัทยูนิเวอร์แซล เอ็นเนอยี่ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้รับตราส่ง
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความและหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 นั้น เห็นว่า เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยไว้โดยชอบแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับทั้งสองปัญหานี้ไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้หรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใด ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ใบตราส่งไม่ปิดอากรแสตมป์จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง เมื่อพิจารณาใบตราส่งแล้วพบว่าเป็นตราสารที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศได้จัดทำขึ้นนอกราชอาณาจักร ไม่อยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า บริษัทโนห์ฮิ โลจิสติคส์ จำกัด และบริษัทยูนิเวอร์แซล เอ็นเนอยี่ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จะต้องรับผิดต่อโจทก์มิใช่จำเลยนั้น เห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 บัญญัติให้สิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่งในเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งของที่ระบุไว้ในใบตราส่งนั้น ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่ง ทั้งใบตราส่งก็ระบุว่า จำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้ที่ต้องได้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า โดยมิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำการในฐานะตัวแทนของบริษัทยูนิเวอร์แซล เอ็นเนอยี่ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในใบตราส่งนั้นด้วย เมื่อมีเงื่อนไขการขนส่งแบบ ซีวาย/ซีวาย ข้อความดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องแจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบและส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยอันถือเป็นการส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยตามมาตรา 40 (3) แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 และเมื่อตู้สินค้าถูกขนส่งถึงท่าปลายทาง โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งจะต้องส่งมอบตู้สินค้าทั้งตู้แก่จำเลยในฐานะผู้รับตราส่งเพื่อนำไปเปิดที่โกดังของตนเอง ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่รับสินค้า พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยยอมรับเอาหน้าที่ที่จะต้องรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ตามข้อกำหนดของใบตราส่ง โดยเงื่อนไขการขนส่งของซีวายตัวหลังแล้ว ส่วนใบตราส่งที่จำเลยอ้างว่าคู่สัญญาตามใบตราส่งดังกล่าวคือ บริษัทโนห์ฮิ โลจิสติคส์ จำกัด และบริษัทยูนิเวอร์แซล เอ็นเนอยี่ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากนายฉัตรชัย ผู้รับมอบอำนาจจำเลยซึ่งเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ใบตราส่งออกโดยตัวแทนของจำเลยที่ประเทศญี่ปุ่น ใบตราส่งจึงไม่ใช่ใบตราส่งของโจทก์ แม้ว่าใบรับเงินประกันการใช้ตู้สินค้าจะระบุว่าได้รับเงินจากบริษัทยูนิเวอร์แซล เอ็นเนอยี่ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด แต่ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดแจ้งในใบรับเงินประกันการใช้ตู้สินค้านั้นว่า บริษัทยูนิเวอร์แซล เอ็นเนอยี่ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้รับตราส่งในการขนส่งครั้งนี้ ทั้งใบสั่งปล่อยสินค้าและเอกสารของกรมศุลกากรที่ระบุชื่อบริษัทยูนิเวอร์แซล เอ็นเนอยี่ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้รับตราส่งนั้น ก็เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นภายหลังจากโจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยไปแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยว่า ก่อนส่งมอบสินค้านั้นโจทก์ไม่ได้รับรู้ถึงฐานะในการเป็นตัวแทนของจำเลย เมื่อโจทก์ขนส่งสินค้ามาส่งมอบตามใบตราส่งให้แก่จำเลยและจำเลยยอมรับหน้าที่ตามใบตราส่งแล้ว จำเลยในฐานะผู้รับตราส่งจึงมีหน้าที่รับตู้สินค้าและส่งคืนตู้สินค้าตามข้อกำหนดในใบตราส่ง แต่จำเลยหาได้ทำหน้าที่ของตนกลับมีหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งและก็ไม่ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อส่งมอบตู้สินค้าให้แก่บริษัทยูนิเวอร์แซล เอ็นเนอยี่ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และนำตู้สินค้ามาคืนโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดของจำเลยต่อโจทก์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท