แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเจ้าของสวนยางพารา นำผลิตผลในสวนไปขายให้จำเลย โจทก์มิได้ซื้อยางพาราจากบุคคลอื่นไปขาย โจทก์จึงมิใช่พ่อค้ากรณีไม่ เข้าอยู่ในบังคับแห่งอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) อายุความจึงมี 5 ปี ตามมาตรา 165 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเปิดร้านค้ารับซื้อยางพารา โจทก์นำยางพาราขายให้แก่จำเลยเป็นเวลาหลายปี โดยบางครั้งรับเงินไป บางครั้งก็ไม่รับเงินไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2513 โจทก์จำเลยคิดบัญชีกันปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ทั้งหมด 172,510 บาท จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ ต่อมาโจทก์ซื้อของไปจากจำเลยหลายครั้งคิดเป็นเงิน 63,420.50 บาท จำเลยจึงยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่อีก 109,089.50 บาท โจทก์ทวงเตือนแล้วจำเลยไม่ยอมชำระ จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดในหนี้สินตามฟ้อง โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากที่ส่งมอบของมาเกิน 2 ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน109,089.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นสามีภรรยากัน โจทก์เป็นเจ้าของสวนยางพารานำยางพาราไปขายให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน2513 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 คิดบัญชีหนี้สินกัน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2เป็นหนี้ค่ายางพาราโจทก์อยู่ 172,510 บาท โจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ลงชื่อรับรองหนี้สินจำนวนดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ชำระเงินให้โจทก์อีกหลายครั้ง และโจทก์ซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 บ้าง ครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 1ที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 109,089.50 บาท และวินิจฉัยปัญหาเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ว่า โจทก์เป็นเจ้าของสวนยางพารา นำผลิตผลในสวนไปขายให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 โจทก์ไม่ได้ซื้อยางพาราจากบุคคลอื่นไปขาย โจทก์จึงไม่ใช่พ่อค้า กรณีไม่เข้าอยู่ในบังคับแห่งอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) อายุความจึงมี 5 ปี ตามมาตรา 165 วรรคท้าย คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน