คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6541/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาจำนวน 9 ล้านบาทเศษและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังร่วมกันเป็นหนี้โจทก์อีก 9 ล้านบาทเศษด้วยพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองได้พยายามหน่วงเหนี่ยวการชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งยังให้ภริยาจำเลยที่ 1 ผลัดเปลี่ยนกันยื่นคำร้องขัดทรัพย์อันเป็นอุปสรรคต่อการบังคับคดีของโจทก์ แสดงถึงเจตนาที่จะประวิงการชำระหนี้ให้เนิ่นนานออกไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์การที่จำเลยฎีกาอ้างว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้เป็นหลักประกันแล้ว หรืออ้างว่าทางราชการตีราคาหลักทรัพย์ของจำเลยที่วางประกันต่อโจทก์มีราคาสูงมากขึ้นก็ดีเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดไปแล้วข้ออ้างของจำเลยยังไม่เป็นที่แน่นอนที่จะให้ฟังได้เช่นนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลายจำเลยทั้งสองให้การว่าไม่ใช่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ นายตามใจ ขำภโต เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีอำนาจลงชื่อประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์กระทำการแทนโจทก์ได้นายตามใจ ขำภโต มอบอำนาจให้นายชัยยะ จูฑะพุทธิฟ้องคดีนี้ เดิมบริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์ จำกัด เป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด หนี้ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ (ทรัสต์รีซีท) และหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตมีที่ดินโฉนดเลขที่ 18057 ตำบลหัวหมาก อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงงานและเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์นม จำกัดจำนองเป็นประกัน และจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1920ตำบลสามเสนนอก (สามเสนฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร เป็นประกันด้วยโดยมีข้อตกลงว่าถ้ามีการบังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นสิทธิหักชำระหนี้ยังขาดอยู่เท่าใดจำเลยที่ 1 ยอมใช้ส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์จนครบและจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวโดยยอมรับผิดร่วมกับบริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์นม จำกัด และจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระบริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์นม จำกัด และจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องบังคับต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งพิพากษาให้ร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์ คือ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์4,000,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์อีก 4,147,451.61 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงิน3,794,500.93 บาท นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2514 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์รวม 100,640 บาท คดีถึงที่สุดตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 9260/2516 ของศาลแพ่ง แต่บริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์นมจำกัด และจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินที่จำเลยที่ 1 จำนองออกขายทอดตลาด แต่ภริยาของจำเลยที่ 1 ร้องขัดทรัพย์ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกายังขายทอดตลาดไม่ได้ ส่วนที่ดินที่บริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์นม จำกัดจำนองนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดไว้ในคดีล้มละลายหมายเลขดำที่ ล.92/2514 เคยนำออกขายทอดตลาดครั้งหนึ่งแล้ว โจทก์ซื้อได้ในราคา 19 ล้านบาท แต่โจทก์ไม่ชำระราคาตามกำหนดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยกเลิกการขายขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่าขายทอดตลาดแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันที่ 28 เมษายน2526 รวมเป็นเงิน 9,921,753.43 บาท และจำเลยทั้งสอง ร่วมกันเป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันดังกล่าวอีกรวมเป็นเงิน 9,840,666.19 บาท
พิเคราะห์แล้ว คดีคงมีปัญหาว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายอันควรตกเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ จากข้อเท็จจริงซึ่งได้ความตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทำให้มองเห็นพฤติการณ์ของจำเลยที่พยายามหน่วงเหนี่ยวการชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งหากความจริงทรัพย์สินที่จำเลยและบริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์นม จำกัด นำมาจำนองเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ต่อโจทก์มีมูลค่าสูงกว่าจำนวนหนี้จริงดังที่จำเลยอ้างแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะปล่อยให้หนี้จำนวนนี้ต้องค้างชำระอยู่ต่อไปซึ่งเป็นเหตุให้ดอกเบี้ยตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดเพิ่มพูนปริมาณสูงขึ้น อันก่อภาระหนักแก่จำเลยที่จะต้องรับผิดมากยิ่งขึ้นไปอีกโดยไม่จำเป็น ทั้งการที่ภริยาจำเลยที่ 1 ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามายื่นคำร้องขัดทรัพย์อันเป็นอุปสรรคต่อการบังคับคดีของโจทก์ก็ย่อมเป็นเหตุผลแสดงชัดอยู่ในตัวถึงเจตนาที่จะประวิงการชำระหนี้ให้เนิ่นนานออกไป ซึ่งย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อย่างไรก็ตามการที่จำเลยฎีกาอ้างว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของบริษัทป๊อปผลิตภัณฑ์นม จำกัด เมื่อกลางปี 2528แล้วก็ดี หรืออ้างว่าทางราชการได้ตีราคาหลักทรัพย์ของจำเลยเมื่อเดือนมกราคม 2531 ในราคาตารางวาละ 25,000 บาท ก็ดี อันเป็นเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลล่างมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดไปแล้ว เช่นนี้ ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวยังไม่เป็นที่แน่นอนที่จะให้ฟังได้เช่นนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองเป็นอย่างอื่น คำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share