คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1296/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การในการตอนต้นแต่เพียงว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นความจริง นอกจากที่จำเลยให้การต่อไปนี้ ขอให้ถือว่าจำเลยปฏิเสธทั้งสิ้น และในคำให้การต่อไปของจำเลยก็มิได้แสดงให้ชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธของโจทก์ที่วา โจทก์ครอบครองที่พิพาทมา 40 ปีย่อมได้กรรมสิทธิ์ เช่นนี้ กรณีจึงมีลักษณะเป็นว่าจำเลยเพียงแต่กล่าวปฏิเสธลอย ๆ และมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้น คดีจึงต้องฟังว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครอง

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๖๔๖๐ ซึ่งที่ดินแปลงนี้มีแนวเขตติดต่อทางด้านใต้กับที่ดินของจำเลยโฉนดที่ ๖๔๐๕ ในการรังวัดสอบเขตปรากฏว่า โจทก์ได้ครอบครองรุกล้ำเข้าไปในเขตโฉนดของจำเลยเป็นจำนวนเนื้อที่ ๓ งาน ๓๖ วา ซึ่งจำเลยได้แจ้งความประสงค์ว่า จำเลยจะแบ่งแยกโอนที่ดินส่วนที่เหลื่อมล้ำกัน อันมีเนื้อที่จำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ผู้ครอบครอง ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ – ๒ ได้ทำการแบ่งแยกที่ดินที่เหลื่อมล้ำกันนี้ออกเป็นโฉนดที่ ๘๕๗๙ แล้วจำเลยที่ ๑ – ๒ ได้ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินโฉนดดังกล่าวนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นบุตรเขยจำเลยที่ ๑ และเป็นสามีจำเลยที่ ๒ อันเป็นการกระทำไม่สุจริต
แม้จะถือว่าที่ดินโฉนดที่ ๘๕๗๙ เป็นส่วนหนึ่งของโฉนดจำเลย แต่โจทก์ก็ได้ครอบครองที่ดินส่วนนั้นโดยสงบและเปิดเผยติดต่อกันกว่า ๔๐ ปีแล้ว โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยทางครอบครอง จำเลยไม่มีอำนาจเอาคืนได้ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดที่ ๘๕๗๙ เป็นที่ดินของโจทก์โดยทางครอบครอง ให้จำเลยคืนให้โจทก์และห้ามเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้นำช่างแผนที่ไปรังวัดที่ดินของจำเลยเพื่อแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ โจทก์คัดค้านว่าที่ดินของโจทก์ล้ำเข้ามาในที่ของจำเลยจำเลยก็ว่าที่ดินนั้นอยู่ในโฉนดของจำเลย เกิดโต้เถียงกัน จำเลยให้เจ้าพนักงานรังวัดส่วนที่เหลื่อมล้ำกันไว้เพื่อออกโฉนดใหม่อีกโฉนดหนึ่ง ผลที่สุดตกลงกันไว้ โดยโจทก์ตกลงซื้อที่ดินส่วนนั้น คือ โฉนดที่ ๘๕๗๙ ในราคา ๓,๐๐๐ บาท แต่เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์ไม่นำเงินมาชำระเป็นการผิดสัญญา จำเลยถึงโอนขายที่ดินโฉนดที่ ๘๕๗๙ ให้จำเลยที่ ๓ ครอบครองมาจนทุกวันนี้ มิได้ฉ้อโกงโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
เมื่อนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าตามฟ้องคำให้การ คดีคงมีประเด็นที่จะต้องสืบพยานว่าการที่จำเลยได้โอนขายที่ดินกันไปนั้น เป็นการกระทำที่สุจริตหรือไม่และกำหนดให้โจทก์เป็นฝ่ายนำสืบก่อน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์นำสืบยังไม่พอฟังได้ชัดแจ้งว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทและในข้อที่ว่า จำเลยที่ ๑ โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ ๓ โดยไม่สุจริตนั้น โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็น จำเลยนำสืบน่าเชื่อว่ามีการซื้อขายกันจริง เพราะมีหลักฐานทางทะเบียน โจทก์จะยกการครอบครองมายันจำเลยที่ ๓ ไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์สืบประเด็นเพียงข้อเดียวว่า จำเลยทำการโอนกันโดยสุจริตหรือไม่นั้น คดีจึงเป็นอันยุติลงว่าที่พิพาทเป็นที่ภายใต้กรรมสิทธิ์และการครอบครองของโจทก์ เพราะจำเลยมิได้คัดค้านแต่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามมิให้รับฟัง นอกจากนี้แม้จะฟังว่าการโอนขายกันสุจริต ก็ยังไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๓ ได้กรรมสิทธิ์เพราะจำเลยที่ ๓ มิได้สู้ว่าได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยให้การในตอนต้นแต่เพียงว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นความจริง นอกจากที่จำเลยให้การต่อไปถือว่าจำเลยปฏิเสธทั้งสิ้น จำเลยมิได้ให้การชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธในข้ออ้างโจทก์ที่ว่า โจทก์ครอบครองที่มา ๔๐ ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์ กรณีจึงมีลักษณะเป็นว่าจำเลยไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตามมาตรา ๑๗๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณความแพ่งที่จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นความจริง ขอปฏิเสธทั้งสิ้น นอกจากที่ได้การต่อไป จึงเป็นการกล่าวปฏิเสธลอย ๆ ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นไว้ เมื่อจำเลยไม่โต้แย้งอย่างไร จึงต้องฟังว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครอง ฉะนั้น ย่อมทำให้คดีมีประเด็นแต่เพียงว่าการโอนขายไม่สุจริตเท่านั้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกลับพิจารณาวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยเช่นนี้จึงเป็นการพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่ถูกต้องตามท้องสำนวน
อย่างไรก็ดี คดีนี้มีทุนทรัพย์เพียง ๒,๐๐๐ บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง และต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างฟังมาว่า จำเลยที่ ๓ ได้รับโอนที่พิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน กรณีเข้ามาตรา ๑๒๙๙ วรรค ๒ ซึ่งปรากฏว่าสิทธิครอบครองจองโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มา จึงไม่อาจยกขึ้นต่อสู้จำเลยที่ ๓ ผู้รับโอนโดยสุจริตโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๓ ไม่มีสิทธิยกมาตรา ๑๒๙๙ ขึ้นอ้าง เพราะไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การนั้น ก็ปรากฏว่าประเด็นข้อนี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้วโดยละเอียด ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share