คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21725/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง ศ. ผู้เสียหาย อายุยังไม่เกิน 15 ปี ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 277 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังได้ว่า จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำเลยตามมาตรา 279 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเบาตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดตามมาตรา 277 จึงยุติลง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคหนึ่ง ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ด้วย คดีจึงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงว่า จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคหนึ่ง หรือไม่เท่านั้น แต่ความผิดตามมาตรานี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี จึงมีอายุความ 15 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) เหตุกระทำความผิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 อันเป็นเวลาภายหลังกำหนดอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 277
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคหนึ่ง จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคหนึ่ง ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง ศ. ผู้เสียหาย อายุยังไม่เกิน 15 ปี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายหรือไม่ แต่ฟังได้ว่าจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคหนึ่ง ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 279 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเบาตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย จำเลยอุทธรณ์ แต่โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดตามฟ้องฐานกระทำชำเราเด็กหญิงผู้เสียหายอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 จึงยุติลง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคหนึ่ง ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้เสียด้วย คดีจึงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กหญิงผู้เสียหายอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคหนึ่ง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่เท่านั้น แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคหนึ่ง มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี จึงมีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) คดีนี้ได้ความตามฟ้องว่า เหตุกระทำความผิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2537 แต่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 อันเป็นเวลาภายหลังวันเกิดเหตุนานถึงเกือบ 17 ปี แสดงว่าโจทก์มิได้ฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดมาศาลภายในกำหนดอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีของโจทก์เสียจากสารบบความ

Share