คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 989/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขนส่งสินค้ารายนี้มีการว่าจ้างรับขนของเป็นทอด โดยออกใบตราส่งไว้เป็นหลักฐานรวม 2 ฉบับ ฉบับแรกคือ ใบตราส่งที่บริษัท ซ. ในฐานะผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ออกระบุชื่อบริษัท จ. เป็นผู้ส่งของ บริษัท ท. เป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า ส่วนจำเลยถูกระบุชื่อในช่องผู้ให้ติดต่อเพื่อส่งมอบสินค้า ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือใบตราส่งที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขนส่งที่แท้จริงเป็นผู้ออกระบุชื่อบริษัท ซ. เป็นผู้ส่งของ จำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า เงื่อนไขการขนส่งตามใบตราส่งทั้งสองฉบับเป็นแบบ FCL/FCL หรือ CY/CY จากท่าเรือต้นทางเมืองรอตเตอร์ดัมมายังปลายทางท่าเรือกรุงเทพ โดยที่จำเลยถูกระบุชื่อในใบตราส่งทั้งสองฉบับต่างสถานะกัน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดของจำเลยจึงต้องพิจารณาจากความสัมพันธ์ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตามที่ระบุในใบตราส่งแต่ละฉบับประกอบกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัท ซ. ผู้ขนส่งในประเทศไทย และถูกระบุให้เป็นผู้ให้ติดต่อเพื่อส่งมอบสินค้า จำเลยจึงมีหน้าที่ตามใบตราส่งที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ท. ผู้รับตราส่ง เมื่อบริษัท ซ. ว่าจ้างผู้ขนส่งอื่นคือโจทก์ให้ทำการขนส่งสินค้าแทน การที่โจทก์ออกใบตราส่งระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้าก็เพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ในฐานะผู้ขนส่งอื่นกับจำเลยในฐานะผู้รับตราส่งในเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าให้เป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่งตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 ซึ่งจำเลยมีพยานเบิกความว่า ก่อนโจทก์จะขนส่งสินค้าถึงท่าเรือกรุงเทพ เมื่อตัวแทนโจทก์ได้แจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบ พร้อมทั้งแจ้งกำหนดเวลาการแก้ไขเอกสารโดยให้แก้ไขได้ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ก่อนเวลา 16 นาฬิกา จำเลยได้แจ้งต่อไปยังบริษัท ท. และได้รับการยืนยัน โดยบริษัทดังกล่าวได้ส่งสำเนาใบกำกับสินค้ามาให้จำเลยเพื่อใช้ประกอบการขอแก้ไขเอกสาร จำเลยจึงได้ทำหนังสือขอให้โจทก์แก้ไขใบตราส่งและบัญชีสินค้าในเรือ โดยเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยเป็นบริษัท ท. และออกใบปล่อยสินค้า โดยเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยเป็นบริษัท ท. และภายหลังจากโจทก์ได้รับหนังสือแล้วโจทก์ได้ดำเนินการแก้ไขเอกสารพร้อมกับยื่นสำแดงต่อกรมศุลกากรและการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว เห็นได้ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับเหตุผลในทางปฏิบัติเพื่อที่จำเลยจะได้ดำเนินการส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าของสินค้าที่แท้จริง และตรงกับข้อมูลการตรวจสอบในระบบ งานอิเล็กทรอนิกส์ใบตราส่งของกรมศุลกากร ซึ่งระบุชัดเจนว่าบริษัท ท. เป็นผู้รับตราส่ง เอกสารดังกล่าวส่งมาจากหน่วยงานราชการจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง นอกจากนี้ ใบแจ้งสินค้านำเข้าและใบแจ้งหนี้ที่บริษัท อ. แจ้งไปยังจำเลยก็มีข้อความระบุกำหนดเวลาแก้ไขเอกสารชัดเจน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้แก้ไขใบตราส่งโดยเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยเป็นบริษัท ท. แล้ว พฤติการณ์ที่จำเลยติดต่อขอแก้ไขเอกสารและขอรับใบปล่อยสินค้าจากโจทก์ก็เพราะจำเลยอยู่ในฐานะเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่งซึ่งต้องรับสินค้าจากโจทก์ขณะเดียวกันจำเลยก็ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ท. ดังนั้น เมื่อโจทก์ตกลงที่จะแก้ไขชื่อผู้รับตราส่งในใบตราส่งและออกใบปล่อยสินค้าในนามของบริษัท ท. แล้ว จำเลยจึงมิได้อยู่ในฐานะผู้รับตราส่งต่อไป และสิ้นความสัมพันธ์กับโจทก์ผู้ขนส่งอื่นตามข้อกำหนดในใบตราส่งโดยผลของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 จำเลยจึงไม่มีหน้าที่และไม่อยู่ในฐานะที่จะรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ ตามเงื่อนไขการขนส่งของ CY ตัวหลังได้ ดังนั้น การที่จำเลยไม่รับมอบตู้สินค้าจากโจทก์จึงไม่ถือเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลแต่อย่างใด
ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยผิดคำรับรองตามหนังสือร้องขอแก้ไขชื่อผู้รับตราส่งนั้น เห็นว่า หนังสือดังกล่าวมีข้อความว่าจำเลยขอรับรองว่าจะไม่ให้โจทก์ได้รับผลกระทบจากการเรียกร้องหรือผลที่ตามมาจากการที่โจทก์ปฏิบัติตามที่จำเลยเรียกร้อง เมื่อความรับผิดตามคำรับรองของจำเลยอาจเกิดขึ้นเนื่องจากการขอให้โจทก์แก้ไขชื่อผู้รับตราส่ง จึงต้องพิจารณาว่าการดำเนินการดังกล่าวมีผลให้สิทธิและหน้าที่ของโจทก์เปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งเห็นได้ว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นผลให้โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ท. ผู้ที่จำเลยระบุว่าเป็นผู้รับตราส่งที่แท้จริง ข้อรับรองดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการที่จำเลยรับรองสถานะของบริษัท ท. ว่าเป็นผู้รับตราส่งที่มีสิทธิรับมอบสินค้าตามใบตราส่ง หากภายหลังมีบุคคลภายนอกมาอ้างสิทธิในฐานะผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าจากโจทก์หรือบุคคลนั้นมีสิทธิดีกว่าก่อให้เกิดความเสียหายจากกรณีที่โจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิรับไปจำเลยจึงจะต้องรับผิดต่อโจทก์ หาใช่เป็นการที่จำเลยรับรองว่าจะชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในการกระทำหรือละเว้นกระทำการของบริษัท ท. ซึ่งจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่นอกเหนือการรับรู้ของจำเลยในทุกกรณีไม่ ดังนั้นการที่บริษัท ท. ไม่ไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำรับรองของจำเลยเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 1,861,046 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,826,794 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 มิถุนายน 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติว่า บริษัทซีคอน โลจิสติกส์ บีวี ตกลงรับขนสินค้าเครื่องจักรหลักสำหรับโรงงานอาหารสัตว์และคูลเลอร์สำหรับอาหารสัตว์พร้อมอุปกรณ์จากผู้ส่งของรายบริษัทจีเลน เทคนิค บีวี ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากท่าเรือเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ มายังท่าเรือกรุงเทพ เพื่อส่งให้แก่บริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด แต่บริษัทซีคอน โลจิสติกส์ บีวี เป็นผู้ประกอบการขนส่งที่ไม่มีเรือเป็นของตนเอง จึงว่าจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าอีกทอดหนึ่ง ภายใต้เงื่อนไขการขนส่งแบบ FCL/FCL โดยบริษัทซีคอน โลจิสติกส์ บีวี ผู้ส่งของ มีหน้าที่บรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าและผนึกตราตู้สินค้า รวมทั้งหมด 22 ตู้ โจทก์ออกใบตราส่งชนิดไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ให้ไว้แก่บริษัทซีคอน โลจิสติกส์ บีวี ผู้ส่งของ ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้ได้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า เนื่องจากจำเลยเป็นตัวแทนประสานงานด้านเอกสารของบริษัทซีคอน โลจิสติกส์ บีวี ในประเทศไทยเพื่อส่งมอบสินค้า บริษัทซีคอน โลจิสติกส์ บีวี ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขาย ระบุผู้ส่งของคือ บริษัทจีเลน เทคนิค บีวี ผู้รับตราส่งคือ บริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด เมื่อโจทก์ขนส่งสินค้าถึงท่าเรือกรุงเทพ ตัวแทนโจทก์แจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบ จำเลยแจ้งขอแก้ไขชื่อผู้รับตราส่งและขอให้โจทก์ออกใบปล่อยสินค้าในชื่อบริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด โดยทำหนังสือรับรองไว้ โจทก์ยินยอมทำตามที่จำเลยร้องขอ แต่หลังจากนั้นทั้งจำเลยและบริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด ไม่มารับมอบสินค้าเป็นเหตุให้สินค้าตกค้างอยู่ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และเกิดภาระค่าฝากตู้สินค้า (Container Storage Charge) กับค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การท่าเรือ (Facilities Usage Fee) รวมเป็นเงิน 1,861,046 บาท โจทก์ชำระเงินดังกล่าวแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยไปแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าฝากตู้สินค้าและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การท่าเรือตามคำฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การขนส่งสินค้ารายนี้มีการว่าจ้างรับขนของเป็นทอด โดยออกใบตราส่งไว้เป็นหลักฐานรวม 2 ฉบับ ฉบับแรก คือ ใบตราส่งที่บริษัทซีคอน โลจิสติกส์ บีวี ในฐานะผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเล (Contractual Carrier) กับผู้ส่งของที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ออก ระบุชื่อบริษัทจีเลน เทคนิค บีวี เป็นผู้ส่งของ บริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด เป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า ส่วนจำเลยถูกระบุชื่อในช่องผู้ให้ติดต่อเพื่อส่งมอบสินค้า (for delivery please apply to) ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือใบตราส่ง ที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขนส่งที่แท้จริง (Actual Carrier) เป็นผู้ออก ระบุชื่อบริษัทซีคอน โลจิสติกส์ บีวี เป็นผู้ส่งของ จำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า เงี่อนไขการขนส่งตามใบตราส่งทั้งสองฉบับเป็นแบบ FCL/FCL หรือ CY/CY จากท่าเรือต้นทางเมืองรอตเตอร์ดัมมายังปลายทางท่าเรือกรุงเทพ โดยที่จำเลยถูกระบุชื่อในใบตราส่งทั้งสองฉบับต่างสถานะกัน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดของจำเลยจึงต้องพิจารณาจากความสัมพันธ์ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตามที่ระบุในใบตราส่งแต่ละฉบับประกอบกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทซีคอน โลจิสติกส์ บีวี ผู้ขนส่ง ในประเทศไทย และถูกระบุให้เป็นผู้ให้ติดต่อเพื่อส่งมอบสินค้า จำเลยจึงมีหน้าที่ตามใบตราส่งที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด ผู้รับตราส่ง เมื่อบริษัทซีคอน โลจิสติกส์ บีวี ว่าจ้างผู้ขนส่งอื่นคือโจทก์ให้ทำการขนส่งสินค้าแทน การที่โจทก์ออกใบตราส่งระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้าก็เพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ในฐานะผู้ขนส่งอื่นกับจำเลยในฐานะผู้รับตราส่งในเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าให้เป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 ซึ่งจำเลยมีนางสาววิภาวัลย์ ผู้จัดการแผนกขาเข้าของจำเลยเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำ ยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า ก่อนโจทก์จะขนส่งสินค้าถึงท่าเรือกรุงเทพ เมื่อตัวแทนโจทก์ได้แจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบ พร้อมทั้งแจ้งกำหนดเวลาการแก้ไขเอกสารโดยให้แก้ไขได้ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ก่อนเวลา 16 นาฬิกา จำเลยได้แจ้งต่อไปยังบริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด และได้รับการยืนยันโดยบริษัทดังกล่าวได้ส่งสำเนาใบกำกับสินค้ามาให้จำเลยเพื่อใช้ประกอบการขอแก้ไขเอกสาร จำเลยจึงได้ทำหนังสือขอให้โจทก์แก้ไขใบตราส่งและบัญชีสินค้าในเรือ โดยเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยเป็นบริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด และออกใบปล่อยสินค้า โดยเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยเป็นบริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด และภายหลังจากโจทก์ได้รับเอกสารแล้ว โจทก์ได้ดำเนินการแก้ไขเอกสารพร้อมกับยื่นสำแดงต่อกรมศุลกากรและการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว ส่วนนางสุพินดา พนักงานปฏิบัติการเทเล็กซ์ บริษัทเอ็น วาย เค ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนโจทก์ในประเทศไทย พยานโจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกนั้น ใบตราส่งเป็นเอกสารสำคัญที่เกี่ยวกับการขนส่ง ผู้ขนส่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อมูลในใบตราส่งซึ่งอยู่ในระบบฐานข้อมูลส่วนกลางได้เอง เว้นแต่ผู้ส่งของจะแจ้งให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขและเวนคืนเอกสารแล้ว และการร้องขอแก้ไขชื่อผู้รับตราส่งตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งไม่อาจทำได้เนื่องจากต้องทำในระบบฐานข้อมูลส่วนกลางระหว่างประเทศของโจทก์ เห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงตามที่นางสาววิภาวัลย์พยานจำเลยเบิกความสอดคล้องกับเหตุผลในทางปฏิบัติเพื่อที่จำเลยจะได้ดำเนินการส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าของสินค้าที่แท้จริง และตรงกับข้อมูลการตรวจสอบในระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ใบตราส่งเลขที่ NYKS5350888950 และ NYKS5350895810 ของกรมศุลกากร ตามเอกสารแนบท้ายหนังสือของกรมศุลกากรลงวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ในสำนวน ซึ่งระบุชัดเจนว่าบริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด เป็นผู้รับตราส่ง เอกสารดังกล่าวส่งมาจากหน่วยงานราชการ จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ทั้งโจทก์เองก็ยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ต้องยื่นสำแดงเพื่อการนำเข้า นอกจากนี้ ใบแจ้งสินค้านำเข้าและใบแจ้งหนี้ที่บริษัทเอ็น วาย เค ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งไปยังจำเลยก็มีข้อความระบุกำหนดเวลาแก้ไขเอกสารชัดเจนเจือสมกับทางนำสืบจำเลย ประกอบกับได้ความจากนางสาววิภาวัลย์ต่อไปว่าได้มีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่ง ที่ต้นทางแล้วซึ่งเข้าเงื่อนไขตามที่โจทก์นำสืบ พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังว่า โจทก์ได้แก้ไขใบตราส่งโดยเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยเป็นบริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด แล้ว พฤติการณ์ที่จำเลยติดต่อขอแก้ไขเอกสารและขอรับใบปล่อยสินค้าจากโจทก์ก็เพราะจำเลยอยู่ในฐานะเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่ง ซึ่งต้องรับสินค้าจากโจทก์ ขณะเดียวกันจำเลยก็ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด ตามใบตราส่งเอกสาร ดังนั้น เมื่อโจทก์ตกลงที่จะแก้ไขชื่อผู้รับตราส่งในใบตราส่งและออกใบปล่อยสินค้าในนามของบริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด แล้ว จำเลยจึงมิได้อยู่ในฐานะผู้รับตราส่งตามใบตราส่ง อีกต่อไป และสิ้นความสัมพันธ์กับโจทก์ผู้ขนส่งอื่นตามข้อกำหนดในใบตราส่งโดยผลของพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 จำเลยจึงไม่มีหน้าที่และไม่อยู่ในฐานะที่จะรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ตามเงื่อนไขการขนส่งของ CY ตัวหลังได้ ดังนั้น การที่จำเลยไม่รับมอบตู้สินค้าจากโจทก์จึงไม่ถือเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยผิดคำรับรองตามหนังสือร้องขอแก้ไขชื่อผู้รับตราส่ง เห็นว่า หนังสือดังกล่าวมีข้อความว่าจำเลยขอรับรองว่าจะไม่ให้โจทก์ได้รับผลกระทบจากการเรียกร้องหรือผลที่ตามมาจากการที่โจทก์ปฏิบัติตามที่จำเลยเรียกร้อง เมื่อความรับผิดตามคำรับรองของจำเลยอาจเกิดขึ้นเนื่องจากการขอให้โจทก์แก้ไขชื่อผู้รับตราส่ง จึงต้องพิจารณาว่าการดำเนินการดังกล่าวมีผลให้สิทธิและหน้าที่ของโจทก์เปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งเห็นได้ว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นผลให้โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด ผู้ที่จำเลยระบุว่าเป็นผู้รับตราส่งที่แท้จริง ข้อรับรองดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการที่จำเลยรับรองสถานะของบริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด ว่าเป็นผู้รับตราส่งที่มีสิทธิรับมอบสินค้าตามใบตราส่ง หากภายหลังมีบุคคลภายนอกมาอ้างสิทธิในฐานะผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าจากโจทก์หรือบุคคลนั้นมีสิทธิดีกว่า ก่อให้เกิดความเสียหายจากกรณีที่โจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิรับไปจำเลยจึงจะต้องรับผิดต่อโจทก์ หาใช่เป็นการที่จำเลยรับรองว่าจะชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในการกระทำหรือละเว้นกระทำการของบริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด ซึ่งจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่นอกเหนือการรับรู้ของจำเลยในทุกกรณีไม่ ดังนั้น การที่บริษัททรัพย์เจริญ ฟีดมิลล์ จำกัด ไม่ไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำรับรองของจำเลยเช่นกัน สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share