คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11100/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โรงงานยาสูบเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง (จำเลยที่ 1) ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง มีระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 ต่อมาปี 2538 โรงงานยาสูบจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานยาสูบซึ่งจดทะเบียนแล้ว (จำเลยที่ 2) ขึ้น มีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ทำให้พนักงานยาสูบซึ่งเป็นพนักงานอยู่ก่อนการจัดตั้งจำเลยที่ 2 มีสิทธิเลือกรับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 หรือสมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 แล้วจะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ระบุให้มีการโอนเงินกองทุนบำเหน็จพนักงานยาสูบที่สมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 นำมาเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนของจำเลยที่ 2
โจทก์เป็นลูกจ้างของโรงงานยาสูบก่อนการจัดตั้งจำเลยที่ 2 โจทก์สมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 เท่ากับโจทก์ยินยอมให้โรงงานยาสูบผู้เป็นนายจ้างโอนเงินกองทุนบำเหน็จของโจทก์ไปให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการ จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจและหน้าที่จัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีอำนาจออกข้อบังคับใช้ในการจัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยมีข้อบังคับในเรื่องนี้ใช้บังคับมาก่อน ไม่ใช่กรณีการออกข้อบังคับเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ห้ามนายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 29 วรรคสอง นั้นหมายถึงเฉพาะข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องและตกลงกันได้ตามมาตรา 25 ถึงมาตรา 27 และต้องเป็นกรณีการทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเท่านั้น ข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องและตกลงกันได้จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 29 วรรคสอง ข้อบังคับของจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันสมาชิกของจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินสมทบและผลประโยชน์ จำนวน 909,976.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2548 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นพนักงานของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ตั้งแต่ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2520 โรงงานยาสูบมีระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 ว่าพนักงานยาสูบที่ถูกไล่ออกเพราะละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 5 วัน ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จและเงินชดเชย และในกรณีถูกปลดออก ผู้อำนวยการยาสูบมีอำนาจที่จะสั่งตัดทอนเงินบำเหน็จของผู้ถูกปลดออกลงได้ตามแต่จะเห็นสมควร แต่เมื่อตัดทอนแล้วบำเหน็จที่จะได้รับต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ต่อมาปี 2538 โรงงานยาสูบตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานยาสูบซึ่งจดทะเบียนแล้ว คือจำเลยที่ 2 ขึ้นมามีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 ตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานยาสูบซึ่งจดทะเบียนแล้ว พ.ศ.2538 ทำให้พนักงานยาสูบซึ่งเป็นพนักงานอยู่ก่อนที่กองทุนจะจัดตั้งขึ้นมามีสิทธิเลือกที่จะรับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 หรือสมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 แล้ว ตามระเบียบโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 ข้อ 10 จะทำให้พนักงานยาสูบที่เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและตามข้อบังคับกองทุนจำเลยที่ 2 ระบุให้มีการโอนเงินกองทุนบำเหน็จพนักงานยาสูบของพนักงานที่สมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 รวมทั้งของโจทก์ด้วยนำมาเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนของจำเลยที่ 2 โจทก์สมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 และได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 เท่ากับว่าโจทก์ยินยอมให้โรงงานยาสูบนายจ้างโอนเงินกองทุนบำเหน็จพนักงานยาสูบของโจทก์ไปให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการ ข้อบังคับของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องและตกลงกัน จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 (ที่ถูกเป็นมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543) ต่อมาวันที่ 10 ถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์ขาดงานรวม 5 วันทำงาน ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้อำนวยการยาสูบตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์แล้วลงโทษปลดโจทก์ออกจากงานฐานละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มขาดงานเป็นต้นไปตามคำสั่งที่ 14/2548 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2548 คำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงมีผลให้โจทก์หมดสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ข้อ 44.2.1 ในวันที่ 20 เมษายน 2548 โจทก์ยื่นหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ขอรับเงินในส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับจำเลยที่ 2 โอนเฉพาะเงินสะสมและผลประโยชน์ซึ่งเป็นส่วนของโจทก์จำนวน 94,201.35 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2548 แต่เงินสมทบและผลประโยชน์ซึ่งเป็นส่วนของจำเลยที่ 1 นายจ้าง จำนวน 909,976.67 บาท ที่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมจ่ายให้โจทก์อ้างว่าตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ข้อที่ 44.2.1 จำเลยที่ 2 จะไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่สมาชิกในกรณีถูกลงโทษปลดออกจึงชอบแล้ว
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 2 หาได้เป็นการเข้าทำสัญญาโดยสมัครใจดังศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ เนื่องจากโจทก์ไม่ทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ และหากทราบว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้ลดลงโจทก์ย่อมไม่เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 2 ดังนั้นข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ข้อ 44.2.1 เป็นข้อบังคับเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยพลการ เป็นข้อบังคับขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังข้อเท็จจริงว่าพนักงานยาสูบมีสิทธิเลือกที่จะรับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 หรือสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 โจทก์สมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีความหมายว่าโจทก์เลือกสมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 ด้วยความสมัครใจเอง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ข้อ 44.2.1 ที่ว่าจำเลยที่ 2 จะไม่จ่ายเงินให้แก่สมาชิกที่ถูกปลดออกหรือไล่ออก ซึ่งแต่เดิมแม้ถูกปลดออกก็จะมีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานยาสูบโดยจะจ่ายเท่าใดอยู่ในดุลพินิจของผู้อำนวยการยาสูบ การที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการเปลี่ยนแปลงโดยพลการทำให้ลูกจ้างของโรงงานยาสูบขาดสิทธิประโยชน์ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ (ที่ถูกเป็นกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์)นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าหลังจากจัดตั้งจำเลยที่ 2 ขึ้นแล้ว จำเลยที่ 1 ได้โอนเงินกองทุนบำเหน็จของพนักงานที่สมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 รวมทั้งโจทก์ด้วยไปให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ข้อ 30.2 และโจทก์ยินยอมสมัครใจเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 ด้วย จึงเท่ากับโจทก์ยินยอมให้โรงงานยาสูบนายจ้างโอนเงินจากกองทุนบำเหน็จของโจทก์ไปให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการนั่นเอง โรงงานยาสูบนายจ้างจึงหมดความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการเงินของโจทก์ที่โอนจากกองทุนบำเหน็จพนักงานยาสูบไปให้จำเลยที่ 2 อีกต่อไป หลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับโอนเงินกองทุนบำเหน็จพนักงานยาสูบของโจทก์จากโรงงานยาสูบนายจ้างแล้ว จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจและหน้าที่จัดการเงินกองทุนของจำเลยที่ 2 ให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย การที่จำเลยที่ 2 ออกข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วใช้บังคับในการจัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจทำได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยมีข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวใช้บังคับมาก่อน มิใช่เป็นกรณีการออกข้อบังคับอันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง” ที่ห้ามนายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 29 วรรคสอง นั้น เป็นบทบัญญัติต่อเนื่องมาจากมาตรา 25 ถึง 27 ซึ่งเกี่ยวกับการยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจาต่อรองจนตกลงกันได้ การทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และการที่นายจ้างนำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไปจดทะเบียน ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แล้วต่อด้วยมาตรา 29 วรรคสอง ดังนั้น “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง” ตามมาตรา 29 วรรคสอง จึงหมายถึงเฉพาะข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องและตกลงกันได้ตามมาตรา 25 ถึงมาตรา 27 และต้องเป็นกรณีการทำสัญญากับลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเท่านั้น ข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องและตกลงกันได้ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 29 วรรคสอง ข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันสมาชิกของจำเลยที่ 2 โจทก์ยินยอมเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงต้องผูกพันตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าโจทก์ถูกลงโทษปลดออกจากงานฐานละทิ้งหน้าที่ ตามคำสั่งที่ 14/2548 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2548 และคำสั่งถึงที่สุด โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ข้อ 44 ที่กำหนดว่าจำเลยที่ 2 จะไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่สมาชิกเนื่องจากกระทำผิดระเบียบว่าด้วยวินัยพนักงานยาสูบและถูกลงโทษไล่ออกหรือปลดออกชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 หรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share