แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุตรบุญธรรมจะมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมได้ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้เอาทรัพย์มรดกของผู้ตายประมูลราคาหรือขายทอดตลาดแบ่งกันระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นทายาท เมื่อได้ความว่า จำเลยก็เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดก และโจทก์ก็มิได้คัดค้านในการที่ศาลจะแบ่งส่วนให้จำเลยด้วยดังนี้ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาแบ่งส่วนให้จำเลยด้วยได้และในคดีเช่นนี้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งค่าทนายศาลสั่งให้ชักจากกองมรดกก่อนแล้วจึงให้แบ่งกันระหว่างทายาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้ง 12 คนกับนางทองสุก จำเลยเป็นหลานและเหลนของนางพัน ตามบัญชีเครือญาติท้ายฟ้อง นางพันตายมีมรดกรวมราคา 5,600 บาท จำเลยทั้ง 2 ลอบเอาที่ดินอันเป็นมรดกของนางพันไปโอนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้รับมรดก โจทก์ได้คัดค้านและมาฟ้องขอให้ประมูลราคาหรือขายทอดตลาดทรัพย์มรดกนางพันหักเงินค่าทำศพเสีย 1,600 บาท เหลือนั้นแบ่งกันระหว่างโจทก์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าที่นายมีจำเลยอ้างว่าเป็นบุตรบุญธรรมของนางพันนั้น ไม่มีในทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมที่อำเภอ จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนางพัน ส่วนนางทองสุกจำเลยนั้นเป็นทายาทของนางพันด้วย ฎีกาของโจทก์ก็ไม่คัดค้านในการที่ศาลจะแบ่งส่วนให้แก่นางทองสุกจำเลย ๆ จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งด้วย จึงพิพากษาแก้ให้เอาทรัพย์มรดกตามบัญชีท้ายฟ้อง ออกประมูลราคาหรือขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใดเป็นค่าทำศพนางพัน 1,600 บาทค่าฤชาธรรมเนียมทั้ง 3 ศาล และค่าทนายฝ่ายละ 500 บาทชักจากกองมรดกเหลือจากนั้นแบ่งกันระหว่างโจทก์ และนางทองสุกจำเลยตามส่วนที่ตนมีสิทธิได้