คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2171/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์กระทำผิดวินัยเกี่ยวกับการทำงานจำเลยผู้เป็นนายจ้างย่อมมีอำนาจออกหนังสือตักเตือนและมีอำนาจนำหนังสือตักเตือนไปประกาศให้โจทก์และลูกจ้างอื่นของจำเลยทราบได้ การที่โจทก์ไปฉีกทำลาย ประกาศหนังสือตักเตือนของจำเลยโดยพลการ ทำให้ทรัพย์สินคือหนังสือตักเตือนของจำเลยต้องสูญเสียหาย และขาดประโยชน์ และอาจทำให้ลูกจ้างอื่นของ จำเลยเอาอย่าง ทำให้จำเลยไม่สามารถปกครอง บังคับบัญชาลูกจ้างได้การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำ ผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2531 จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง อัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ5,525 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 17 และวันที่ 2 ของเดือนเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ทำงานมานาน 9 ปีมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน 33,149 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,762 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 25 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การด้วยวาจาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์ฉีกประกาศหนังสือตักเตือนที่จำเลยตักเตือนโจทก์จึงถือว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ฉีกประกาศหนังสือตักเตือนที่จำเลยตักเตือนโจทก์ อันเป็นการกระทำผิดวินัยเกี่ยวกับการทำงานแต่ยังมิใช่เป็นกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 33,149 บาท และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 2,762 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์ฉีกประกาศหนังสือตักเตือนที่จำเลยปิดประกาศไว้ที่ประกาศของโรงงานจำเลยเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่าเมื่อโจทก์กระทำผิดวินัยเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยย่อมมีอำนาจออกหนังสือตักเตือนและมีอำนาจนำหนังสือตักเตือนไปประกาศให้โจทก์และลูกจ้างอื่นของจำเลยทราบได้ การที่โจทก์ไปฉีกทำลายประกาศหนังสือตักเตือนของจำเลยโดยพลการ ทำให้ทรัพย์สินคือหนังสือตักเตือนของจำเลยต้องสูญเสียหายและขาดประโยชน์และอาจทำให้ลูกจ้างอื่นของจำเลยเอาอย่าง ทำให้จำเลยไม่สามารถปกครองบังคับบัญชาลูกจ้างได้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share