คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2166/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 ฟ้องบริษัท ค. ขอให้ชำระค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยบริษัท ค. ยอมชำระเงินจำนวน 48 ล้านบาทให้แก่โจทก์ที่ 2 เงินดังกล่าวเป็นค่าเสียหายจากการผิดสัญญาถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8)
ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ที่ 2 ชำระไปไม่เกี่ยวกับการจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ไม่อาจนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 46 และ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ทวิ ซึ่งให้นำ ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ค่าภาษีอากรที่คณะบุคคลชำระแก่จำเลย แม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นผู้จัดการของคณะบุคคลและต้องรับผิดชอบในเงินภาษีอากรของคณะบุคคลด้วย ก็ไม่อาจถือได้ว่าเงินภาษีที่คณะบุคคลชำระดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 2 เป็นส่วนตัว โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระแก่จำเลยได้
ป.รัษฎากรบัญญัติเกี่ยวกับเงินเพิ่มไว้เป็นจำนวนแน่นอนมิได้ให้ดุลพินิจศาลงดหรือลดลงได้เช่นเบี้ยปรับ จึงไม่อาจงดหรือลดลงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลขที่ ต. 6/1074/1/100282 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ 100/2541/สภ. 1 (กม. 1) ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 ให้จำเลยนำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ที่ 2 ที่ได้ชำระไว้ในนามคณะบุคคลนางพรรณีและนางพนิดา กับพวก จำนวน 5,857,461 บาท มาหักออกจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่โจทก์ทั้งสองอาจต้องชำระตามคำพิพากษา ถ้าหากไม่สามารถหักได้ให้จำเลยคืนเงินภาษีดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มทั้งหมด
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยให้โจทก์ทั้งสองเสียเบี้ยปรับร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 เป็นภริยาโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2536 แสดงเงินได้เฉพาะเงินเดือนของโจทก์ที่ 1 จำนวน 134,000 บาท มิได้นำเงินที่บริษัทเคหะพัฒนาและการเกษตร จำกัด ชำระแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 48,000,000 บาท มาคำนวณเป็นรายได้ด้วย เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ที่ 1 ใหม่ นำเงินได้จำนวน 48,000,000 บาท คำนวณเป็นรายได้ของโจทก์ที่ 2 โดยหักค่าใช้จ่ายให้คือเงินมัดจำ จำนวน 15,000,000 บาท กับค่านายหน้าจำนวน 2,000,000 บาท และค่าทนายความจำนวน 6,000,000 บาท แล้วแจ้งให้โจทก์ทั้งสองชำระภาษีเพิ่มเติมจำนวน 8,729,228.05 บาท กับเบี้ยปรับ 1 เท่า จำนวน 8,729,228.05 บาท และเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 จำนวน 2,095,014.72 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 19,553,470.82 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้อง แต่ลดเบี้ยปรับให้คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองมีว่า เงินได้จำนวน 48,000,000 บาท เป็นของโจทก์ที่ 2 เพียงผู้เดียวหรือไม่ โจทก์ทั้งสองมีตัวโจทก์ที่ 2 เบิกความว่า เงินได้จำนวน 48,000,000 บาท ดังกล่าวเป็นของคณะบุคคล ซึ่งมีนายสุรินทร์ นางกิ่งกาญจน์ นายอัษฎา นางพนิดา กับโจทก์ที่ 2 และบุตร ซึ่งร่วมลงทุนซื้อที่ดินจากบริษัทเคหะพัฒนาและการเกษตร จำกัด ทำสัญญาจะซื้อจะขายในนามโจทก์ที่ 2 ต่อมาบริษัทเคหะพัฒนาและการเกษตร จำกัด ผิดสัญญา โจทก์ที่ 2 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยบริษัทเคหะพัฒนาและการเกษตร จำกัด ยอมชำระเงินจำนวน 48,000,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นของคณะบุคคล แต่ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 มิได้ร่วมลงทุนกับผู้อื่นทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับบริษัทเคหะพัฒนาและการเกษตร จำกัด เงินค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจำนวน 48,000,000 บาท ที่โจทก์ที่ 2 ได้รับจากบริษัทเคหะพัฒนาและการเกษตร จำกัด จึงเป็นเงินได้ของโจทก์ที่ 2 ผู้เดียว และเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) กล่าวคือเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) การหักค่าใช้จ่ายเป็นไปตามมาตรา 46 จึงต้องนำมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า โจทก์ที่ 2 มิได้ร่วมลงทุนกับผู้อื่นซื้อที่ดิน เงินที่โจทก์ที่ 2 ได้รับมาจำนวน 48,000,000 บาท เป็นของโจทก์ที่ 2 แต่ผู้เดียว แม้จะมีการจ่ายเงินจำนวน 7,570,000 บาท แก่นายสุรินทร์กับนางกิ่งกาญจน์และนางพนิดา ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นผู้ร่วมลงทุนจริงก็ฟังไม่ได้ว่าเกี่ยวกับการจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ได้รับเงินจำนวน 48,000,000 บาท จึงเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ไม่อาจนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายจากเงินได้จำนวนดังกล่าวได้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 46 และ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ทวิ ซึ่งให้นำ ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธินำเงินจำนวน 5,857,461 บาท มาหักจากภาษีที่ต้องชำระหรือไม่ เห็นว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นภาษีอากรที่คณะบุคคลชำระแก่จำเลย แม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นผู้จัดการของคณะบุคคลและต้องรับผิดชอบในเงินจำนวนดังกล่าวนี้ด้วย ก็ไม่อาจถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 2 เป็นส่วนตัว โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระแก่จำเลยได้
ส่วนปัญหาที่ว่าศาลจะงดหรือลดเงินเพิ่มได้หรือไม่ เพียงใดนั้น เห็นว่า ประมวลรัษฎากรบัญญัติเกี่ยวกับเงินเพิ่มไว้เป็นจำนวนแน่นอน มิได้ให้ดุลพินิจศาลงดหรือลดลงได้เช่นเบี้ยปรับ จึงไม่อาจงดหรือลดลงได้ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท.

Share