แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หลังจากที่ ศ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ศ. ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าการจัดการมรดกยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีที่ดินอีกสองแปลงที่ยังไม่แบ่งปันแก่ทายาท ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก อ้างว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วและผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลตามกำหนด ดังนี้เมื่อปรากฏว่าในระหว่างที่ ส. เป็นผู้จัดการมรดกยังมีทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันคือที่ดินอีก 2 แปลง และไม่ปรากฏว่า ส. ได้จัดการโอนที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แม้บรรดาทายาทอื่นได้ไปให้ถ้อยคำสละไม่รับมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินและยินยอมให้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ผู้คัดค้านก็ตาม แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้วโดยผู้ร้องมิได้ร่วมตกลงด้วย จึงไม่ผูกพันผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่ายังมีทรัพย์มรดกที่ยังแบ่งปันไม่แล้วเสร็จในขณะที่ ส. ผู้จัดการมรดกยังมีชีวิตอยู่และมีเหตุต้องจัดการทรัพย์มรดกต่อไป
แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728 และมาตรา 1729 จะกำหนดให้ผู้ร้องต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายระบุไว้ และรูปแบบบัญชีจะต้องทำตามแบบในมาตรา 1729 ก็ตาม แต่ขณะผู้ร้องได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกต่อจาก ส. มีทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้จัดการอยู่เพียง 2 รายการ คือ ที่ดิน 2 แปลงเท่านั้นและผู้ร้องได้ทำบัญชีไว้แล้ว แม้จะไม่ทำตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนดก็ตาม เมื่อทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องจะต้องจัดการมีเพียง 2 รายการ และมิได้มีข้อยุ่งยากแก่การจัดการ ดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามรูปแบบและภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 1729 กรณียังไม่พอถือว่าผู้ร้องมิได้ทำบัญชีทรัพย์สินอันเป็นการเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดก กรณียังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายสุดใจ พ่วงศิริเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริ พ่วงศิริ ผู้ตาย ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2535นายสุดใจผู้จัดการมรดกได้ถึงแก่กรรม ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่าการจัดการมรดกไม่แล้วเสร็จเพราะยังมีที่ดินอีก 2 แปลง ที่ยังไม่แบ่งปันแก่ทายาท คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 167196 และที่ดินโฉนดเลขที่ 165235 ผู้ร้องและทายาทอื่นไม่อาจดำเนินการขอรับมรดกที่ดินดังกล่าวเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทได้จึงขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริ พ่วงศิริ แทนนายสุดใจผู้จัดการมรดกคนเดิมซึ่งถึงแก่กรรมไป ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วไม่มีทายาทอื่นคัดค้าน จึงมีคำสั่งลงวันที่ 14 มีนาคม 2539 ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนนายสุดใจ พ่วงศิริ
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องมิใช่เป็นบุตรโดยสายโลหิตและมิใช่ทายาทโดยธรรมของนายศิริทั้งไม่มีสิทธิในที่ดินเอกสารหมาย ร.1 และ ร.4 และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น เห็นว่า เป็นข้อที่ผู้คัดค้านเพิ่งจะยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้วไม่มีเหตุที่ต้องจัดการทรัพย์มรดกอีกนั้น เห็นว่าแม้การแบ่งปันมรดกหาจำต้องทำเป็นบันทึกข้อตกลงระหว่างทายาทตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างก็ตาม แต่ต้องเป็นการแบ่งปันมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง เท่านั้นเมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2528 นายศิริเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ครั้นวันที่ 9 ธันวาคม 2528 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นายสุดใจเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริ ในระหว่างที่นายสุดใจเป็นผู้จัดการมรดกยังเหลือมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน คือ ที่ดินอีก 2 แปลงตามเอกสารหมาย ร.1 และ ร.4 ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2535 นายสุดใจผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย และเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2539 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริต่อจากนายสุดใจและไม่ปรากฏว่านายสุดใจได้จัดการโอนที่ดินตามเอกสารหมาย ร.1 และร.4 ให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว ทั้งพฤติการณ์ที่บรรดาทายาท เช่น นางเขียนนายประเสริฐ นางประยงค์ไปให้ถ้อยคำสละไม่รับมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินและยินยอมให้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย ร.1 และร.4 แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2539 ตามฎีกาของผู้คัดค้านนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว โดยผู้ร้องมิได้ร่วมตกลงด้วยแต่อย่างใด จึงไม่ผูกพันผู้ร้องตามมาตรา 1750 วรรคสอง ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ายังมีทรัพย์มรดกที่ยังแบ่งปันไม่แล้วเสร็จในขณะที่นายสุดใจผู้จัดการมรดกยังมีชีวิตอยู่ และมีเหตุต้องจัดการทรัพย์มรดกต่อไป จึงเป็นการชอบแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ว่า บ้านของผู้ร้องกับบ้านของผู้คัดค้านอยู่ติดกัน ส่วนบ้านของนายประเสริฐและนายสุดใจก็อยู่ในละแวกเดียวกัน โดยอยู่ห่างจากบ้านผู้ร้องเพียง 400 เมตร ผู้ร้องยื่นคำร้องขอโดยมีเจตนาไม่สุจริตปกปิดมิให้ทายาทล่วงรู้การมาร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ในการนัดไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้อง ศาลได้ประกาศนัดไต่สวนแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้านจากหลักฐานในสำนวนก็ปรากฏว่ามีการประกาศนัดไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอีกด้วย ข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านนำสืบและฎีกาขึ้นมายังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
สำหรับปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729อันเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728 และ 1729 จะกำหนดให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายระบุไว้ และแม้รูปแบบบัญชีจะต้องทำตามแบบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1729 ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ชัดว่า ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกต่อจากนายสุดใจซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริคนแรก และในชั้นที่ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกนี้ก็มีทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้จัดการอยู่เพียง 2 รายการ คือ ที่ดิน 2 แปลงตามเอกสารหมาย ร.1 และ ร.4 เท่านั้น และเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวผู้ร้องก็ได้ทำบัญชีไว้ตามเอกสารหมาย ร.24 แล้ว แม้จะไม่ได้ทำตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ตาม เมื่อทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องจะต้องจัดการมีเพียง2 รายการและมิได้มีข้อยุ่งยากแก่การจัดการ ดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามรูปแบบและภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729 ก็ตาม กรณียังไม่พอถือว่าผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์สิน อันเป็นการเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดก กรณียังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของผู้คัดค้านทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน