คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2166/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยกู้ยืมเงินมาเพื่อซื้อที่ดินนั้น ที่ดินที่จำเลยซื้อมาย่อมตกเป็นทรัพย์สินของจำเลยอันเป็นทุนรอนของจำเลยเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการของจำเลยต่อไป เงินกู้ยืมที่จำเลยจ่ายเป็นค่าซื้อที่ดินจึงเป็นรายจ่าย อันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) เนื่องจากเป็นรายจ่ายที่ทำให้จำเลยได้ที่ดินมาโดยตรง ส่วนดอกเบี้ยอันเกิดจากการกู้ยืมเงินมาซื้อที่ดิน ซึ่งจำเลยมีภาระต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยตั้งแต่แรกที่กู้ยืมเงิน มาจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นผล โดยตรงที่ต่อเนื่องจากการกู้ยืมเงินของจำเลยย่อมเป็นส่วนหนึ่ง ของค่าซื้อที่ดินอันเป็นต้นทุน ดังนั้น ดอกเบี้ยซึ่งเกิดจาก การกู้ยืมเงินของจำเลยมาซื้อที่ดินเพื่อนำไปให้ผู้อื่นเช่า จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนเช่นเดียวกับเงินกู้ยืมที่จำเลยนำไปซื้อที่ดิน จำเลยจึงไม่สามารถ นำดอกเบี้ยดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยรับเงินภาษีอากรคืนเกินไป 5,497,022.41 บาท ขอให้บังคับจำเลยให้คืนเงิน5,497,022.41 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงิน 5,497,022.41 บาทให้แก่โจทก์การที่โจทก์ไม่ให้จำเลยนำดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดิน มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิโดยอ้างว่าเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนนั้นขัดต่อประมวลรัษฎากร และมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 9 และ 15ซึ่งออกโดยสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยรวมทั้งขัดต่อมาตราฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 5,497,022.41 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้เป็นเบื้องต้นว่าเมื่อปี 2534 โจทก์ได้คืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2533 ให้แก่จำเลยเป็นเงิน 44,230,787.25 บาท ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อซื้อที่ดินให้บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เช่า โดยจำเลยนำดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากเงินกู้ยืมดังกล่าวจำนวน 15,259,388.31 บาท มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ซึ่งรายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อปรับปรุงกำไรสุทธิเพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยแล้ว จำเลยมีสิทธิได้คืนเงินภาษีจำนวน 38,733,764.84 บาทจำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีที่รับเกินไป 5,497,022.41 บาท แก่โจทก์ จำเลยปฏิเสธโดยอ้างว่ารายจ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวมิใช่เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าดอกเบี้ยที่จำเลยจ่ายไปสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดินมาให้เช่าไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) หรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 65 ตรี (5) ดังกล่าวไม่ยอมให้นำรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ การที่จำเลยกู้ยืมเงินมาเพื่อซื้อที่ดินนั้น ที่ดินที่จำเลยซื้อมาย่อมตกเป็นทรัพย์สินของจำเลยอันเป็นทุนรอนของจำเลยเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการของจำเลยต่อไป เงินกู้ยืมที่จำเลยจ่ายเป็นค่าซื้อที่ดิน จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) เนื่องจากเป็นรายจ่ายที่ทำให้จำเลยได้ที่ดินมาโดยตรง ส่วนดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกู้ยืมดังกล่าว แม้จะมิใช่รายจ่ายที่ทำให้จำเลยได้ที่ดินมาโดยตรง แต่ดอกเบี้ยนั้นก็เกิดจากการกู้ยืมเงินมาซื้อที่ดินซึ่งจำเลยมีภาระต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยตั้งแต่แรกที่กู้ยืมเงินมาจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงที่ต่อเนื่องจากการกู้ยืมเงินของจำเลยย่อมเป็นส่วนหนึ่งของค่าซื้อที่ดินอันเป็นต้นทุน ดังนั้น ดอกเบี้ยซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินของจำเลยมาซื้อที่ดินเพื่อนำไปให้ผู้อื่นเช่าจึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนเช่นเดียวกับเงินกู้ยืมที่จำเลยนำไปซื้อที่ดิน ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2347/2536 ระหว่างบริษัทสหธร จำกัดโจทก์กรมสรรพากรที่ 1 กับพวก ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยไม่ให้จำเลยนำดอกเบี้ยดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (5) นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปเพราะไม่อาจทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงได้”
พิพากษายืน

Share