แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองซื้อรถยนต์พิพาทมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ชำระราคาและรับมอบรถยนต์พิพาทมาแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนมาเป็นชื่อของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันจัดทำทะเบียนรถยนต์และโอนทะเบียนรถยนต์พิพาททั้งสองคันให้แก่โจทก์ทั้งสองแต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ดังนี้ เฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 เท่านั้น ที่จะต้องรับผิดตามสัญญาซื้อขายต่อโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดทำทะเบียนและจดทะเบียนโอนรถยนต์เป็นชื่อของโจทก์ทั้งสอง ถ้าไม่ไปจดทะเบียนขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนเท่านั้น เมื่อรถยนต์พิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์เกี่ยวกับรถยนต์พิพาทกับโจทก์ทั้งสอง ดังนั้นการจัดทำและโอนทะเบียนรถยนต์เกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกับโจทก์ทั้งสองได้ต่อไป สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้ จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดได้ตามฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้ายานพาหนะและของเก่าทุกชนิด มีสำนักงานที่ทำการเป็นหลักแหล่งเปิดเผย โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1ที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทมาเพื่อขายให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยให้นำรถยนต์เก่าของโจทก์ทั้งสองแลกกับรถยนต์พิพาท และชำระราคาส่วนที่เหลือ มิใช่เป็นการเช่าซื้อมาเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1โดยเฉพาะ พฤติการณ์เช่นนี้เป็นลักษณะการแสวงหากำไรเช่นปกติของพ่อค้ารับแลกเปลี่ยนรถยนต์ทั่ว ๆ ไป จำเลยที่ 1 และที่ 2จึงเป็นพ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 การที่โจทก์ทั้งสองซื้อรถยนต์พิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยสุจริตแม้รถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 อยู่ โจทก์ทั้งสองย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยไม่ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 3จนกว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จะชดใช้ราคาให้ และในกรณีเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายมิใช่เป็นการละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสองระหว่างที่ครอบครองรถยนต์พิพาทได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาด้วยกันโดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 โดยนำรถยนต์ของจำเลยที่ 3มาจำหน่ายขาย ให้เช่าซื้อและแลกเปลี่ยนในจังหวัดเชียงใหม่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ไปติดต่อกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยโจทก์ที่ 1 ประสงค์จะซื้อรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้าจำนวน 1 คันโจทก์ที่ 2 ประสงค์จะซื้อรถยนต์กระบะสี่ล้อยี่ห้อโตโยต้าจำนวน1 คัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งว่าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3จะติดต่อนำรถดังกล่าวมาขายให้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้นำรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้าโคโรล่าสีขาว จำนวน 1 คันและรถยนต์กระบะสี่ล้อยี่ห้อโตโยต้า สีครีม จำนวน 1 คัน ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 3 ยังไม่มีทะเบียนทั้งสองคันมาที่จังหวัดเชียงใหม่โจทก์ที่ 1 ตกลงซื้อรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวในราคา 232,000 บาทได้ชำระเงินสดจำนวน 134,000 บาท และเอารถยนต์เก่าของตนตีราคา98,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการชำระแทนเงินสดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มอบรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1ส่วนโจทก์ที่ 2 ตกลงซื้อรถยนต์กระบะคันดังกล่าวในราคา 158,000 บาทได้ชำระเงินสดจำนวน 100,000 บาทและเอารถยนต์เก่าของตนตีราคา58,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการชำระแทนเงินสดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มอบรถยนต์กระบะคันดังกล่าวให้โจทก์ที่ 2จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้สัญญาว่าจะจัดการโอนทะเบียนรถยนต์คันที่ซื้อให้เป็นชื่อของโจทก์ทั้งสองภายในเดือนมกราคม 2527 แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ผัดผ่อน และจนถึงเดือนเมษายน2527 จำเลยที่ 2 พยายามหลบหนีโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองได้ให้ตัวแทนติดต่อกับจำเลยที่ 3 ให้นำทะเบียนรถยนต์มาจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 3 เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจัดทำทะเบียนรถยนต์และโอนทะเบียนรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวให้เป็นชื่อของโจทก์ที่ 1 และรถยนต์กระบะคันดังกล่าวเป็นชื่อของโจทก์ที่ 2 ภายใน 15 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2มิได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลยที่ 3 โจทก์ทั้งสองซื้อรถยนต์พิพาทจากบุคคลอื่น รถยนต์พิพาททั้งสองคันเป็นของจำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไป ต่อมาจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 3 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและแจ้งให้จำเลยที่ 2ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนแล้ว จำเลยที่ 3 ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท โจทก์ทั้งสองซื้อรถยนต์พิพาทโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นรถของจำเลยที่ 3 ซึ่งให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อ จำเลยที่ 3เคยแจ้งต่อโจทก์ทั้งสองให้ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนแก่จำเลยที่ 3แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมส่งมอบให้ ทำให้จำเลยที่ 3 เสียหาย ปัจจุบันรถยนต์เก๋งคันพิพาทซื้อขายกันในราคา 189,650 บาท หากให้เช่าจะได้ค่าเช่าอย่างต่ำวันละ 800 บาท ส่วนรถยนต์กระบะสี่ล้อคันพิพาทซื้อขายกันในราคา 118,000 บาท หากให้เช่าจะได้ค่าเช่าอย่างต่ำวันละ 700 บาท จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองและบังคับโจทก์ทั้งสองส่งมอบรถยนต์พิพาททั้งสองคันคืนแก่จำเลยที่ 3 มิฉะนั้นให้โจทก์ที่ 1ใช้ราคารถยนต์เก๋ง 229,250 บาท ให้โจทก์ที่ 2 ใช้ราคารถยนต์กระบะสี่ล้อ 148,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 3 และให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายวันละ 800 บาท และ 700 บาท ตามลำดับ ให้แก่จำเลยที่ 3 นับแต่วันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสองยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองซื้อรถยนต์พิพาททั้งสองคันจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยเปิดเผย โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทนับแต่วันที่ได้รับมอบรถแล้ว หนังสือสัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 2กับที่ 3 เป็นนิติกรรมอำพราง เพราะทางปฏิบัติจำเลยที่ 3 จะให้จำเลยที่ 3 ซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 3 โดยชำระเงินสดมัดจำบางส่วนและให้จำเลยที่ 2 ออกเช็คล่วงหน้าชำระเงินส่วนที่ค้างให้จำเลยที่ 3เป็นงวดรวม 2 ถึง 3 งวด จำเลยที่ 2 ไม่เคยเช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 3 การที่จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 3 จึงเป็นการซื้อขายเด็ดขาดไม่ใช่เช่าซื้อ จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้รับความเสียหาย เพราะไม่มีอำนาจนำรถยนต์พิพาทให้เช่า จำเลยที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 3โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2526 โจทก์ทั้งสองได้ซื้อรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า และรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้าซึ่งเป็นรถยนต์พิพาททั้งสองคันมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.ที เซอร์วิสจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ทั้งสองได้ชำระราคาและรับมอบรถยนต์พิพาททั้งสองคันมาจากจำเลยที่ 1และที่ 2 แล้วแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมิได้จดทะเบียนโอนมาเป็นชื่อของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันจัดทำทะเบียนรถยนต์และโอนทะเบียนรถยนต์พิพาททั้งสองคันให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ปฏิเสธอ้างว่ารถยนต์พิพาททั้งสองคันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่าซื้อไป พร้อมกับฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองคืนหรือใช้ราคารถยนต์พิพาททั้งสองคันและค่าเสียหาย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยที่ 1ที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 หรือไม่ โจทก์ทั้งสองอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า รถยนต์คันพิพาททั้งสองคันเป็นรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้นำมาจำหน่ายโดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนในจังหวัดเชียงใหม่ และในขณะที่โจทก์ทั้งสองไปติดต่อซื้อจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็อ้างว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 3 โดยมีนายแสวง ชัยวรรณ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทั้งสองเป็นพยานเบิกความสนับสนุนกับมีหนังสือควบคุมการใช้ป้ายแดงของรถยนต์พิพาททั้งสองของจำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.8และใบตอบรับเงินชั่วคราวของจำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.9 และจ.10 เป็นพยานเอกสาร เห็นว่า แม้รถยนต์พิพาททั้งสองคันจะเป็นรถยนต์ใหม่ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้จำหน่ายอยู่ แต่ก็มิได้จำกัดว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะรับไปจำหน่ายอีกทอดหนึ่งไม่ได้นอกจากการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ 2 บอกโจทก์ทั้งสองและนายแสวงว่าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3ก็เป็นการกล่าวอ้างมาลอย ๆ เพราะจำเลยที่ 3 มิได้รับรู้คำกล่าวอ้างนั้นเลย ทั้งไม่มีหลักฐานใดอันเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 3มอบหมายหรือยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนของตนหากจะถือเอาพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 ออกใบตอบรับเงินชั่วคราวตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 และหนังสือควบคุมการใช้ป้ายแดงตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.8 แสดงว่าจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นตัวแทน ก็ปรากฏว่า ใบตอบรับเงินชั่วคราวและหนังสือควบคุมการใช้ป้ายแดงเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 3 ออกให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ในฐานะเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาททั้งสองคันไปจากจำเลยที่ 3มิได้เกี่ยวข้องกับโจทก์ทั้งสอง ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายเพราะตามเอกสารหมาย จ.9,จ.10, จ.13 และ จ.14 ระบุว่าเป็นการซื้อขายและอากรแสตมป์ที่ปิดในสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย ล.5 ได้ขีดฆ่าก่อนวันทำสัญญาเช่าซื้อเป็นอากรแสตมป์ที่ถูกขีดฆ่าแล้ว หรือใช้แล้วนำมาใช้อีกไม่ได้นั้นเห็นว่า เอกสารหมาย จ.9 จ.10 จ.13 และ จ.14 เป็นเพียงใบตอบรับเงินชั่วคราวเท่านั้น ส่วนปัญหาว่าอากรแสตมป์ที่ปิดในสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย ล.5 เป็นอากรแสตมป์ที่ใช้แล้วนำมาใช้อีกหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาททั้งสองคันจากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ดังนี้ เฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 เท่านั้นที่จะต้องรับผิดตามสัญญาซื้อขายต่อโจทก์ทั้งสอง แต่ที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดทำทะเบียนและจดทะเบียนโอนรถยนต์เป็นชื่อของโจทก์ทั้งสอง ถ้าไม่ไปจดทะเบียนขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนนั้น เห็นว่า รถยนต์พิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์เกี่ยวกับรถยนต์พิพาทกับโจทก์ทั้งสอง ดังนั้นการจัดทำและโอนทะเบียนรถยนต์อันเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกับโจทก์ทั้งสองได้ต่อไป สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้มีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2ในกรณีอื่นมาด้วย จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดได้ตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า โจทก์ทั้งสองจะต้องคืนรถยนต์หรือใช้ราคา และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 3 ตามฟ้องแย้งหรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่ได้เป็นพ่อค้าขายรถยนต์ แม้โจทก์ทั้งสองจะซื้อมาโดยสุจริตก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจะต้องคืนรถยนต์หรือใช้ราคาและค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่าตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่และตามคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 8 และที่ 13 ระบุไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการด้วยยานพาหนะและของเก่าทุกชนิดเช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ ทั้งจำเลยที่ 1 ยังมีสำนักงานที่ทำการเป็นหลักแหล่งเปิดเผยอยู่บ้านเลขที่ 111-113 ถนนเชียงใหม่ลำพูน ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นอกจากนั้นพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2เช่าซื้อรถยนต์พิพาททั้งสองคันก็เพื่อขายให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยให้โจทก์ทั้งสองนำรถยนต์เก่าของโจทก์ทั้งสองแลกกับรถยนต์พิพาททั้งสองคัน และให้โจทก์ทั้งสองชำระราคาส่วนที่เหลือตามที่ตกลงกันมิใช่เป็นการเช่าซื้อมาเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะพฤติการณ์เช่นนี้เป็นลักษณะการแสวงหากำไรเช่นปกติของพ่อค้ารับแลกเปลี่ยนรถยนต์ทั่ว ๆ ไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นพ่อค้าตามความหมายดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1332 การที่โจทก์ทั้งสองซื้อรถยนต์พิพาททั้งสองคันไว้จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยสุจริต แม้รถยนต์พิพาททั้งสองคันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 อยู่ โจทก์ทั้งสองย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่กล่าวนี้โดยไม่ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 3 จนกว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จะชดใช้ราคาให้แก่โจทก์ทั้งสองและในกรณีเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายมิใช่เป็นการละเมิด จำเลยที่ 3 จึงหามีอำนาจที่จะฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสองระหว่างที่ครอบครองรถยนต์พิพาทได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแย้งจำเลยที่ 3 ชอบแล้ว”
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะฟ้องจำเลยที่ 1ที่ 2 ให้ใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาภายในกำหนดอายุความ