คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2153/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การดำเนินกิจการสาธารณูปโภคนั้น มิใช่ว่าจะเป็นการดำเนินกิจการที่มิได้มุ่งหวังกำไรโดยเด็ดขาดหรือเป็นกิจการที่ให้เปล่า กิจการของการประปานครหลวงอาจมีได้ทั้งกำไรและขาดทุน นอกจากนี้ในด้านรายได้กฎหมายก็ได้กำหนดไว้ว่า เมื่อมีเงินเหลือจากค่าใช้จ่าย ค่าสัมภาระเงินสงเคราะห์ ประโยชน์ตอบแทน โบนัส เงินสำรอง และเงินลงทุนแล้วให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ ดังนั้น เงินที่นำส่งเป็นรายได้ของรัฐก็คือกำไรจากกิจการของจำเลยนั่นเอง กิจการของจำเลยจึงอยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
การที่พระราชบัญญัติการประปานครหลวงฯ กำหนดให้พนักงานของจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญานั้นเป็นเพียงกำหนดฐานะของพนักงานของจำเลย ซึ่งตามปกติถือไม่ได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ให้มีฐานะอย่างเจ้าพนักงานเพื่อประโยชน์ในการติดต่อและปฏิบัติงานกับบุคคลภายนอกและความรับผิดทางอาญา ซึ่งพนักงานของจำเลยได้กระทำต่อจำเลยหรือรัฐซึ่งเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยคงเป็นไปในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างอยู่นั่นเอง ถึงหากจำเลยจะเรียกชื่อลูกจ้างประจำเป็นพนักงาน ก็หาได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 39,575.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่ากิจการของจำเลยเป็นกิจการสาธารณูปโภค มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานนั้น ถึงแม้ว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ได้ประกาศ มิให้กำหนดให้ใช้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานแก่ “2. การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ” ก็ตาม แต่การดำเนินกิจการสาธารณูปโภค นั้นใช่ว่าจะเป็นการดำเนินกิจการที่มิได้มุ่งหวังกำไรโดยเด็ดขาดหรือเป็นกิจการที่ให้เปล่า ดังเช่นกิจการมูลนิธิหรือกิจการสาธารณกุศลก็หาไม่การที่จำเลยต้องดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชนด้วยนั้น เป็นหลักของรัฐวิสาหกิจทั้งหลายของรัฐควรต้องคำนึงอยู่แล้ว หาใช่เป็นข้อแสดงวัตถุประสงค์ว่าไม่ประสงค์แสวงกำไรอย่างเด็ดขาดไม่ กิจการของจำเลยมิได้ทั้งกำไรและขาดทุนดังเช่นรัฐวิสาหกิจอื่น และพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. 2510 มาตรา 85 ยังได้บัญญัติถึงรายได้ของจำเลยว่า รายได้ที่จำเลยได้รับปีหนึ่งๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินกิจการ ค่าสัมภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่นค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา และเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น ๆ เพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัวตามมาตรา 24 ประโยชน์ตอบแทนตามมาตรา 27 โบนัสตามมาตรา 15 เงินสำรองตามมาตรา 16 และเงินลงทุนตามงบลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา 44 แล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ เงินที่นำส่งเป็นรายได้ของรัฐดังกล่าวก็คือกำไรจากกิจการของจำเลยนั่นเอง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจการของจำเลยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ดังนี้การจ้างของจำเลยจึงหาเข้าข้อยกเว้นที่มิต้องอยู่ภายในบังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานไม่

ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยและมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มิใช่ลูกจ้างประจำของจำเลยนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ได้ให้คำนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” ไว้ว่า “ลูกจ้าง” หมายความผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างไม่ว่าจะเป็นผู้รับจ้างด้วยตนเองหรือไม่ก็ตาม และหมายความรวมถึงลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานบ้านและให้คำนิยามคำว่า “ลูกจ้างประจำ” ว่า ลูกจ้างซึ่งนายจ้างตกลงจ้างไว้เป็นการประจำ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นไปดังบทนิยามดังกล่าว จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ถึงหากจำเลยจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น โดยเรียกเป็นพนักงาน ก็หาได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นอย่างอื่นดังเช่นชื่อที่เรียกขานกันไม่ และการที่พระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. 2510 มาตรา 15 บัญญัติให้พนักงานของจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนั้น เป็นเพียงกำหนดฐานะของพนักงานของจำเลย ซึ่งตามปกติถือไม่ได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายให้มีฐานะอย่างเจ้าพนักงานเพื่อประโยชน์ในการติดต่อและปฏิบัติงานกับบุคคลภายนอกและความรับผิดทางอาญาซึ่งพนักงานของจำเลยได้กระทำต่อจำเลยหรือรัฐซึ่งเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยคงเป็นไปในฐานะของนายจ้างกับลูกจ้างอยู่นั่นเอง”

พิพากษายืน

Share