แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดฟันพลตำรวจ ก. ซึ่งแต่งเครื่องแบบตำรวจและออกตรวจท้องที่ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ระงับเหตุสามีภริยาทะเลาะวิวาทกัน ไม่ว่าการใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายร่างกายพลตำรวจ ก. ดังกล่าวจะมีมูลเหตุมาโดยประการใด หรือไม่เกี่ยวข้องกับการที่พลตำรวจ ก. กับพวกจับกุมจำเลยที่ 1 กับพวก ก็เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำร้ายร่างกายพลตำรวจ ก. เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ เพราะการที่พลตำรวจ ก. กับพวกกำลังระงับเหตุทะเลาะวิวาทกันดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 296, 371, 83, 91, 33 ริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าได้ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายจริงแต่ได้กระทำไปโดยบันดาลโทสะ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 140 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 138 วรรคสอง, มาตรา 83 จำคุกคนละ6 เดือน และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296, 371 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือชุมนุมชนโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 90 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี และปรับ90 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 เดือน และปรับ 60 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน ริบอาวุธมีดของกลางข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 โดยจำคุกมีกำหนด3 เดือน และปรับ 3,000 บาท ในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน และปรับ 9,090 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 6,060 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยทั้งสองมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกาเพียงประการเดียวว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ อันจะทำให้จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 หรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาสรุปความได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องพลตำรวจกรณรงค์ ลือฤทธิ์ กับสิบตำรวจตรีอภิสิทธิ์ สิทธิ์กลาง เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะซึ่งแต่งเครื่องแบบตำรวจได้ออกตรวจท้องที่ไปถึงซอยผู้ใหญ่บอกพบจำเลยทั้งสองกับพวกนั่งดื่มสุราอยู่หน้าบ้าน จำเลยที่ 1 ซึ่งเมาสุราได้พูดจาเสียดสีพลตำรวจกรณรงค์และสิบตำรวจตรีอภิสิทธิ์ จึงได้ว่ากล่าวตักเตือน ระหว่างนั้นพลตำรวจกรณรงค์กับสิบตำรวจตรีอภิสิทธิ์ได้รับแจ้งทางวิทยุให้ไประงับเหตุสามีภริยาทะเลาะวิวาทกันอีกซอยหนึ่งซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันจำเลยทั้งสองได้ตามไป ขณะที่พลตำรวจกรณรงค์กำลังระงับเหตุสามีภริยาทะเลาะวิวาทจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดฟันที่ขาพลตำรวจกรณรงค์ 1 ครั้ง เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ดังนี้เห็นได้ว่า พลตำรวจกรณรงค์กับพวกซึ่งแต่งเครื่องแบบตำรวจได้ออกตรวจท้องที่ เมื่อได้รับแจ้งเหตุทางวิทยุขอให้ไประงับเหตุสามีภริยาทะเลาะวิวาทพลตำรวจกรณรงค์กับพวกจึงไประงับเหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดฟันพลตำรวจกรณรงค์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ระงับเหตุทะเลาะวิวาทกัน และไม่ว่าการที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายร่างกายพลตำรวจกรณรงค์ดังกล่าวจะมีมูลเหตุมาโดยประการใด หรือไม่เกี่ยวข้องกับการที่พลตำรวจกรณรงค์กับพวกจับกุมจำเลยที่ 1 กับพวก ก็เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำร้ายร่างกายพลตำรวจกรณรงค์เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่เพราะการที่พลตำรวจกรณรงค์กับพวกกำลังระงับเหตุทะเลาะวิวาทกันดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามหน้าที่โดยทั่วไปของเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดฟันพลตำรวจกรณรงค์ในขณะที่พลตำรวจกรณรงค์กำลังทำการระงับเหตุทะเลาะวิวาทเป็นการที่พลตำรวจกรณรงค์ปฏิบัติหน้าที่ในคดีอื่นมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการจับกุมจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 3,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และในความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือชุมนุมชนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วรวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน และปรับ 9,090 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 6,060 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์