คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2140/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าหนี้รู้อยู่แล้วว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีเงินพอที่จะชำระหนี้ แต่เจ้าหนี้ยังเสี่ยงให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินเพิ่มและยอมรับเช็คของลูกหนี้ไว้ หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วเช่นนี้เป็นกรณีที่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(2).

ย่อยาว

คดีนี้มูลกรณีสืบเนื่องมาจากนายวิโรจน์ รุ่งกระจ่าง กับพวกรวม 5 คน เป็นโจทก์ฟ้องนางสมปอง แสงไพวรรณ เป็นจำเลย ขอให้ล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2530 นางหวานใจ แก้วมาก เจ้าหนี้รายที่ 14ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามเช็ค 36 ฉบับ เป็นเงิน 2,268,640 บาทและดอกเบี้ยจำนวน 14,937.50 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,283,577.50บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว เจ้าหนี้รายที่26 ถึง 30 โดยนายจรินทร์ บุญเกิด ผู้รับมอบอำนาจโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ว่า มูลหนี้ของเจ้าหนี้ไม่เป็นความจริง หากแต่เป็นหนี้อันเกิดจากเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นทั้งที่รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และหรือเป็นหนี้สมยอมที่เกิดจากเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกันเพื่อฉ้อโกงเจ้าหนี้รายอื่นและหรือเป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ขอให้ยกคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาปัตตานี จำนวน 2 ฉบับคือ ฉบับลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2529 จำนวนเงิน 30,000 บาท และฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2529 จำนวนเงิน 30,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 โดยลำดับรวมเป็นเงินตามเช็ค 60,000 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินตามเช็ค นับจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับเป็นเงินดอกเบี้ยรวม3,399.16 บาท รวมเป็นต้นเงินตามเช็คและดอกเบี้ยทั้งสิ้นจำนวน63,399.16 บาท ส่วนเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาปัตตานี อีกจำนวน34 ฉบับ คือตั้งแต่ฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529 ถึงฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2530 ตามเช็คเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.36 เป็นหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(2) เห็นควรให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามเช็คและดอกเบี้ยเป็นเงินรวม 63,399.16 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 130(8) คำขอนอกจากนี้เห็นควรให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่าเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมายจ.3 ถึง จ.36 พร้อมด้วยดอกเบี้ยดังที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การของเจ้าหนี้เองว่าเจ้าหนี้รู้จักกับลูกหนี้มาร่วม 10 ปี ตั้งแต่สามีของเจ้าหนี้ยังไม่ถึงแก่กรรม สามีของเจ้าหนี้เคยให้สามีของลูกหนี้กู้ยืมเงินครั้งละนับแสนบาท เจ้าหนี้มีฐานะทางการเงินดีโดยรับราชการเป็นครูตำแหน่งอาจารย์ 2 ระดับ 6 เงินเดือน 8,050 บาท กับมีรายได้จากค่าเช่าบ้าน และการรับเหมาก่อสร้างอีกอย่างละประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน เมื่อสามีของเจ้าหนี้ถึงแก่กรรมแล้ว ลูกหนี้ได้กู้ยืมเงินเจ้าหนี้ไปหลายครั้งแต่ละครั้งออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าประมาณ1 เดือน มอบให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้ ในระยะหลังก่อนถึงกำหนดใช้เงินตามเช็ค ลูกหนี้จะมาขอผัดผ่อนยังไม่ให้นำเช็คไปขึ้นเงิน จนกระทั่งเจ้าหนี้มีเช็คของลูกหนี้อยู่ในมือถึง 36 ฉบับ ดังปรากฏตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.36 คำให้การของเจ้าหนี้ดังกล่าวมีลักษณะตรงไปตรงมา และสอดคล้องกับร่องรอยหลักฐานที่ปรากฏในเช็คที่อ้างถึงกล่าวคือ ในบรรดาเช็คเหล่านี้มีอยู่หลายฉบับที่มีรอยขีดฆ่าแก้ไขวันที่เลื่อนกำหนดวันใช้เงินออกไปโดยมีลายมือชื่อลูกหนี้ลงกำกับไว้คำให้การของเจ้าหนี้ดังกล่าวมาจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่า เจ้าหนี้และลูกหนี้รู้จักชอบพอกันเป็นอย่างดี และลูกหนี้ได้ออกเช็คชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กับได้ผัดผ่อนการชำระหนี้ตามเช็คจริง แต่สำหรับเช็คเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ. 36 ซึ่งลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529จนถึงวันที่ 25 เมษายน 2530 นั้น จะเป็นเช็คซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ออกให้เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วหรือไม่นั้น ได้ความตามคำให้การของเจ้าหนี้ว่าเช็คเหล่านี้ล้วนแต่ลงวันที่ล่วงหน้าไว้ประมาณ 1 เดือน ทั้งสิ้นระยะเวลาที่ลูกหนี้เขียนเช็คมอบให้เจ้าหนี้จึงอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม 2529 ถึงมีนาคม 2530 คดีนี้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2530 ช่วงเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม2529 ถึงมีนาคม 2530 เป็นระยะเวลาใกล้เคียงกับวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงเชื่อว่าในช่วงเวลาดังกล่าวลูกหนี้ตกอยู่ในภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว ตามคำให้การของเจ้าหนี้ข้อเท็จจริงปรากฏต่อไปว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2529 เจ้าหนี้ได้ทราบจากลูกหนี้ว่า ลูกหนี้เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการเงินเพราะจับปลาไม่ได้ จึงต้องขอกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้เพิ่มอีกเพื่อเอาไปใช้ต่อเรือลำใหญ่กับเอาไปจ่ายให้ลูกเรือต่าง ๆ หากเจ้าหนี้ทวงถามหรือไม่ให้กู้ยืมเงินเพิ่ม ลูกหนี้ก็ไม่อาจออกไปจับปลาหาเงินมาคืนเจ้าหนี้ได้ และในระยะนั้นเช็คฉบับหมาย จ.1 และ จ.2 ซึ่งถึงกำหนดใช้เงินก่อนฉบับอื่น ๆ และนำไปเรียกเก็บเงินแล้ว ก็ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แต่เจ้าหนี้ก็ยังให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินเพิ่มอีก โดยแต่ละครั้งที่กู้ยืมลูกหนี้ได้ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน มอบให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เชื่อต่อไปว่า ขณะที่ลูกหนี้ออกเช็คเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.36มอบให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้นั้น เจ้าหนี้รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีเงินพอที่จะออกเรือไปจับปลาได้ แต่เจ้าหนี้ยังเสี่ยงให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินเพิ่มและยอมรับเช็คของลูกหนี้ไว้ อันเป็นการเสี่ยงโชคเผื่อลูกหนี้โชคดีฟื้นตัวได้เจ้าหนี้ก็อาจได้รับชำระหนี้ทั้งหมด รูปคดีไม่มีเหตุที่จะให้น่าเชื่อว่า เจ้าหนี้เพิ่งทราบถึงฐานะทางการเงินของลูกหนี้ต่อเมื่อเช็คเอกสารหมาย จ.36 อันเป็นเช็คฉบับสุดท้ายถึงกำหนดใช้เงินแล้วเมื่อหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.36 เป็นหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(2)ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นชอบแล้ว ส่วนคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share