แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 ต่อเจ้าหนี้รายที่ 3 ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 3 ย่อมมีผลให้ผู้ร้องได้รับช่วงสิทธิตามกฎหมายของเจ้าหนี้รายที่ 3 ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเพื่อรับช่วงสิทธิในคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3 สำหรับจำนวนหนี้ที่ผู้ร้องได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 3 ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 เด็ดขาด ในคดีหมายเลขแดงที่ 2247/2545 ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะผู้เข้าสวมสิทธิของเจ้าหนี้รายที่ 3 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 จำนวน 8,313,423.87 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำร้องของผู้ร้องและให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้เข้าสวมสิทธิในคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 3 ได้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3343/2545 มายื่นขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและจำเลยร่วมกับลูกหนี้ที่ 2 ในคำพิพากษาดังกล่าว จึงไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ แม้ต่อมาผู้ร้องจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 3 ผู้ร้องก็มิอาจรับช่วงสิทธิคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3 ได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติให้กระทำได้ และหากจะถือว่าคำขอรับช่วงสิทธิของผู้ร้องเป็นคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องในฐานะที่ผู้ร้องเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้รายที่ 3 ก็พ้นกำหนดระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว นอกจากนี้ สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาด จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจยื่นขอรับชำระหนี้ได้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้องจึงชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่อาจขอรับช่วงสิทธิเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาขอรับชำระหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องจึงชอบแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้ร้องจะขอเข้าสวมสิทธิในคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3 ได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 2 ต่อเจ้าหนี้รายที่ 3 ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 3 ย่อมมีผลให้ผู้ร้องได้รับช่วงสิทธิตามกฎหมายของเจ้าหนี้รายที่ 3 ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226, 229 และ 693 ผู้ร้องในฐานะผู้มีส่วนได้เสียในคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3 จึงมีสิทธิที่จะได้รับการบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ ทั้งในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ก็มิได้มีบทบัญญัติห้ามผู้ค้ำประกันขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ และมิได้มีบทบัญญัติโดยชัดแจ้งห้ามมิให้ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันที่ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้วเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ คงบัญญัติห้ามเฉพาะการขอรับชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันสำหรับจำนวนที่ผู้ค้ำประกันอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้า ในกรณีที่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว ตามมาตรา 101 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ต้องการให้ยอดหนี้ที่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ต้องรับผิดซ้ำซ้อนกันเท่านั้น ซึ่งในกรณีการขอรับช่วงสิทธิในคำขอรับชำระหนี้ไม่มีผลให้ยอดหนี้ที่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ต้องรับผิดเปลี่ยนแปลงไป และมิใช่การยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยตรง เพราะเจ้าหนี้ชั้นต้นได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของระยะเวลาตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 แต่อย่างใด ผู้ร้องในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้รายที่ 3 จึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเพื่อรับช่วงสิทธิในคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3 สำหรับจำนวนหนี้ที่ผู้ร้องได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 3 ได้ ที่ศาลล้มละลายกลางยกคำร้องของผู้ร้อง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องเข้ารับช่วงสิทธิในคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3 จำนวน 8,313,423.87 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ